Month: May 2021

ความสามารถทางภาษา กับการไขว่ขว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง

ผมเกิดและเติบโตมาในสภาวะแวดล้อมที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร ไม่ว่าจะพูดคุยกับพ่อแม่ สื่อสารกับพี่น้อง หรือญาติๆ เรื่องนี้ ถ้าพูดถึงสมัย 30 ปีที่แล้ว ก็คงเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทย มีความคล้ายกันกับอีกหลายแสนครอบครัว ไม่ว่าครอบครัวนั้นจะอยู่ส่วนไหนของไทย นอกจากภาษาไทยแล้ว ผมก็พอได้ยินภาษาจีนแต้จิ๋วบ้าง เวลาอาม่าและเหล่าอี๊ พูดคุยกัน จำได้เป็นบางคน แต่ยังไม่ถือว่าฟังรู้เรื่อง สำหรับภาษาอังกฤษนั้นจำได้ว่าพอจะได้ยินพ่อแม่พูดกันบ้าง แต่ไม่เคยเข้าใจเลยว่าเขาพูดอะไรกัน และก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาอยู่ดีๆ เขาจะเปลี่ยนโหมดจากไทยเป็นอังกฤษทำไม พอโตหน่อยแล้วย้อนกลับไปคิด จึงพอเข้าใจว่า พ่อแม่คงจะคุยกันเรื่องผู้ใหญ่ที่ไม่อยากให้ผมและน้องๆเข้าใจว่าเขากำลังคุยอะไรกัน (คิดไปก็เสียดาย..ทำไมไม่สอนเราและน้องๆพูดตั้งแต่เด็กนะ ป่าป๊า หม่ามี๊?!)

การเริ่มเรียนภาษาอังกฤษของผมถือว่าช้ากว่าเกณฑ์ที่ควรจะเรียนพอสมควร เนื่องด้วยตอนประถมศึกษา ผมเข้าเรียนที่โรงเรียนสาธิต ประสานมิตร ในสมัยนั้นโรงเรียนสาธิตทั้งหลาย จะเริ่มสอนภาษาอังกฤษกันตอน ป.4 ถ้านับอายุแล้ว ก็คือ เด็กๆจะได้เรียนภาษาที่ 2 ตอนอายุพวกเขาปาเข้าไป 10-11 ขวบ ซึ่งก็ต้องบอกว่าถ้าอยากจะให้เรียนรู้ได้ไว พูดได้คล่องเหมือนเจ้าของภาษาอายุ 10 ขวบก็ “สายไปเสียแล้ว” ซึ่งข้อมูลนี้อ้างจากงานวิจัยของ Professor Penfield ของมหาวิทยาลัย Princeton ที่ชี้ว่า โอกาสการเรียนภาษาจะปิดลง เมื่อเด็กๆเข้าสู่ช่วงอายุ 9 ขวบ ถึงตรงนี้ สำหรับใครที่อายุเกิน 9 ขวบแล้ว พวกเราคงจะย้อนเวลากลับไปไม่ได้ เราเอาความรู้นี้ไปฝึกต่อให้กับลูกๆ หลานๆ ของเราที่ยังเด็กได้ อย่าให้พลาดช่วงทองของการเรียนรู้ภาษาของเด็กๆ สำหรับเรา ถึงแม้จะไม่สามารถพูดให้มีสำเนียงเหมือนเจ้าของภาษาได้ แต่เราก็ยังสามารถศึกษาภาษานั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาสเปน ภาษาญี่ปุ่น เพื่อหาความรู้เพิ่มเติมให้กับตัวเองได้ ซึ่งก็จะเป็นหัวข้อหลักที่ผมอยากจะเขียนในบทความนี้

อยากจะถามผู้อ่านครับ คุณพอจะทราบไหมว่าภาษาหลักๆในโลกมีภาษาอะไรบ้าง (แบ่งตามจำนวนคนที่ใช้ภาษา) ถ้าคุณตอบว่าภาษาอังกฤษ ก็ขอบอกว่าถูกต้องนะครับ ใช่แล้ว ภาษาอังกฤษนี้มีคนใช้มากที่สุดในโลก แต่อยากจะให้คุณดูกราฟด้านล่างนี้ บางทีคุณอาจจะตกใจเหมือนผม ตอนที่ผมดูครั้งแรก

ภาษาไทยของเราอยู่ในส่วนไหนนะ?

หลังจากดูกราฟนี้ รู้สึกอย่างไรบ้างครับ สำหรับผม ผมตกใจหลายประเด็นเลย ประเด็นแรกก็คือ ภาษาจีน ไม่นึกว่ามันจะสูสี กับภาษาอังกฤษมากขนาดนี้ ในมุมมองของผม อยากจะเรียนรู้ภาษาจีนเพื่อเพิ่มหนทางการทำการค้า ทางธุรกิจ การเดินทางท่องเที่ยว คนจีนมาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดปี 2019 ก่อนโควิดจะระบาด ก็ไปแตะที่หลัก 10ล้านคนต่อปี เราก็บอกตัวเองนะว่าภาษานี้สำคัญ เพราะคนจีนมีเยอะ จีนเป็นประเทศใหญ่ แต่พอมาดูสถิติ ไม่นึกว่าจะสูสี เบียดกันกับภาษาอังกฤษขนาดนี้ ในยุคปี 2021 ยังเห็นได้ชัดว่า ความจริงจังของคนไทยในการเรียนภาษา ระหว่างภาษาอังกฤษกับภาษาจีน ยังคงห่างชั้นกันมาก ถ้าจะเปรียบเหมือนการทานอาหาร การเรียนภาษาอังกฤษ สำหรับคนไทยคงจะเหมือนกับการทานผัก ผลไม้ ควรจะทานเพื่อให้สุขภาพดี แต่สำหรับการเรียนภาษาจีนสำหรับคนไทย คงจะเหมือนการกินวิตามินเสริม จะกินบ้างไม่กินบ้างก็ได้ ยังไม่ซีเรียสจริงจังเท่าไหร่ ซึ่งโลกในอนาคตต่อไปคงจะเป็นอย่างนี้ไม่ได้ ต้องจริงจังกับภาษาจีนให้มากๆครับ

ประเด็นที่ 2 คือนอกเหนือจากภาษาจีน ลองดูอันดับที่ 3 และ 4 ซิครับ แทบจะเป็น 2 ภาษาที่คนไทยไม่คิดถึงเลย ภาษาฮินดี และภาษาสเปน 2 ภาษานี้ มีคนพูดเกินกว่า 500 ล้านคนเสียอีก ลองคิดดูว่าถ้าเราสามารถสื่อสารได้มากกว่าภาษาอังกฤษ แต่ได้ทั้งภาษาจีน และภาษาสเปน โอกาสในการเรียนรู้ สื่อสาร ความเข้าใจของเราต่อโลกใบนี้มันคงเยอะยิ่งๆขึ้นมากเลย จริงไหมครับ โดยเฉพาะภาษาสเปน ที่ไม่ใช่คนที่รู้ภาษานี้จะอยู่แต่ในประเทศสเปนเท่านั้น แต่รวมถึงอีกหลายประเทศในแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ซึ่งในสมัยก่อนอยู่ภายใต้อาณานิคมของจักรวรรดิสเปน ผมเคยมีโอกาสไปเที่ยวเมือง Cancun ประเทศแม็กซิโกกับเพื่อนๆสมัยเรียน ประเทศนี้ภาษาหลักของเขาก็คือภาษาสเปน Español ครับ

เดินทางช่วง Spring Break เมื่อปี 2005 กับเพื่อนๆสมัยมหาวิทยาลัย
บินไปที่ Cancun, Mexcio เยี่ยมชมประวัติศาสตร์ ปิระมิดของคนเผ่ามายา ในอดีต

ประเด็นตกใจประเด็นที่ 3 ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ผมอยากจะเขียนบทความนี้ (แหม ให้อ่านมาตั้งนาน…อิอิ) คืออยากจะให้ท่านผู้อ่านสังเกตครับ ว่าภาษาไทยอยู่ตรงไหนในกราฟของจำนวนผู้รู้ ผู้ใช้ภาษา …อันดับ 7 จากท้ายตารางนะครับ หรือถ้าเอาเปรียบเทียบสำหรับคนที่รู้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่นี่ ก็เกือบจะสุดท้าย รั้งอยู่กับภาษา Swahili ครับ และนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงตกใจ ทำไมไทยมันถึงเล็กอย่างนี้ !? ภาษาไทย เมืองไทย ที่ผมบอกได้เลยว่ามันคือโลกทั้งใบของผมตั้งแต่เกิดจนถึงมัธยมตอนปลาย โลกทั้งใบของผม พอมาดูมีขนาดเล็กนิดเดียวเอง

เปรียบเทียบระหว่าง โลกใบนี้ กับโลกที่ผมรู้จักเมื่อครั้นเติบโตขึ้นมา…มันคนละ size จริงๆ

แล้วประเด็นสำคัญ ประเด็นหัวใจอยู่ตรงไหน สำหรับมุมมองเรื่องการหาความรู้ เราอยู่เมืองไทย ใช้ภาษาไทยสบายๆได้ก็จริง แต่ลองคิดดูนะครับ ประชากรจำนวน 60 กว่าล้านคน ในประเทศไทย จะสามารถสร้างองค์ความรู้ ความคิดต่างๆ เพื่อมาถ่ายทอดเป็นภาษาไทยให้คนในประเทศไทยได้มากขนาดไหน ถ้าเทียบกับองค์ความรู้ที่อยู่ในภาษาอังกฤษ หรือองค์ความรู้ที่อยู่ในภาษาจีน ที่มีคนกว่าพันล้านคน คอยสร้างผลงาน เขียนผลงาน แปลผลงานออกมาตลอด คงจะเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย ลองคิดนะครับ ถ้าเราอยากจะหาความรู้ แต่เราชำนาญเพียงภาษาไทยเพียงภาษาเดียว ไม่เคยอ่านหนังสือภาษาอังกฤษมาก่อนเลย ให้นึกถึงเวลาเราเดินเข้าห้องสมุดซึ่งมีแต่หนังสือภาษาไทย ห้องนั้นคงจะเป็นห้องเล็กๆ มีหนังสือสักหนึ่งร้อยเล่มให้เราได้เลือกอ่านหาความรู้ แต่ถ้าเอาไปเปรียบกับห้องสมุดหนังสือภาษาอังกฤษ หรือห้องสมุดภาษาจีน ห้องสมุดทั้งสองห้องนั้น คงจะมีหนังสือไม่ต่ำล้านเล่มอย่างแน่นอน ฐานความรู้จึงมีความต่างกันมากครับ

ผมได้ประสบเหตุการณ์นี้โดยตรงกับตัวผมเอง ในช่วงโควิดที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้นั่งศึกษาบางเรื่องที่ผมสนใจในรายละเอียดเยอะขึ้น (เรื่องที่ผมกำลังศึกษาลงรายละเอียดอยู่คือ AI for Business, Children Learning and Psychology, และ Investment) ครับ โดยผมหยิบเรื่องการลงทุนมาเป็นเรื่องแรก โดยหนังสือที่ผมหยิบมาศึกษาเล่มแรกชื่อว่า One Up on Wall Street แต่งโดย​ Peter Lynch ซึ่งผมเป็นหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับการลงทุนที่ดีมากๆ ผมยังเสียดายว่าน่าจะได้อ่านเล่มนี้เมื่อสัก 15 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมเริ่มต้นลงทุนในตลาดหุ้นครั้งแรก ผลตอบแทนด้านการลงทุนของผมคงจะได้เยอะกว่านี้มากเลย :'(.

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ผมก็ไม่รอช้าที่จะซื้อเล่มที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นเนื้อหาต่อโดยผู้เขียนคนเดิม จากร้านหนังสือ มาอ่านต่อ และก็บอกต่อให้กับทั้งน้องสาวและน้องชายผม ให้รู้จักหนังสือเล่มนี้ เพื่อให้พวกเขาได้มีความคิดเริ่มต้นลงทุนถูกต้อง จะได้ไปไกลมากกว่าผม เพราะเริ่มต้นเร็วกว่า ผมอยากจะให้น้องๆได้อ่านหนังสือเล่มนี้มาก จนบอกว่าถ้าใครสนใจอยากจะอ่าน เฮียอาสาซื้อหนังสือและส่งให้เลย ฟรี มีหน้าที่อ่านอย่างเดียว ปรากฎว่าน้องสาวคนที่สองของผมสนใจ แต่บอกผมว่า “เฮีย เมย์ขอฉบับแปลเป็นภาษาไทยนะ น่าจะอ่านง่ายกว่า” พอได้ยินว่าน้องอยากอ่าน จะภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ยังไงก็ได้ ผมดีใจมาก เดี๋ยวจะหามาให้เข้าอ่าน ผมจึงบุกไปที่ร้าน Kinokuniya สาขา Paragon ซึ่งก็เป็นร้านหนังสือที่ผมซื้อหนังสือมาอ่านประจำ ไปถึงถามที่หน้าเคาน์เตอร์ ว่ามีหนังสือเล่มนี้ไหม ฉบับแปลเป็นภาษาไทยครับ …รอ…รอ…รอ แล้วก็ได้คำตอบแบบ Surprise ว่า “ไม่มีค่ะ ขาดตลาดไปสักพักนึงแล้ว ทางสำนักพิมพ์ไม่ได้พิมพ์ต่อค่ะ เหลือแต่เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ที่พี่ถืออยู่ในมือนี่หละค่ะ” ผมนี่งงไปเลย ฮ่ะ! ไม่มีขาย ทั้งที่ๆเราอยากจะซื้อไปให้น้องอ่าน…แล้วถ้าคนอื่นอยากอ่านหละ ก็ไม่มี.

One Up on Wall Street ฉบับภาษาอังกฤษที่ร้าน Kinokuniya Paragon
ฉบับภาษาไทย หายากก เสมือน Rare item เลย ถ่ายฉบับภาษาอังกฤษเอาไว้เป็นที่ระลึก
บอกตัวเองว่า ถ้าเราหวังเพิ่งจะอ่านแต่หนังสือภาษาไทย เราจะได้อ่านหนังสือน้อยมากๆเลย

“เมย์ เฮียอยู่ที่คิโนแล้ว แต่มันไม่มีภาษาไทย จะอ่านภาษาอังกฤษได้ไหม” “อืม…ไม่เป็นไรเฮีย รอก่อนก็ได้ มีเวอร์ชันไทยเมื่อไหร่ ค่อยมาให้อ่าน”… ผมนี่เซ็งเป็ดเลยครับ แต่ใจยังไม่ย่อท้อครับ ยังไปตามหาที่ Kinokuniya สาขาเอ็มควอเทียร์ ก็ไม่มี คำตอบเดิม สำนักพิมพ์ไม่ได้พิมพ์ต่อ…ไปต่อที่ร้าน Se-ed สาขาพระราม 4 สาขาอ่อนนุช สาขา Paradise ไปห้างไหนมีร้านหนังสือ ต้องเข้าไปถาม ไม่มีสักร้านครับ ระหว่างการผจญภัยนี้อยากจะได้หนังสือแปล One Up on Wall Street หนังสือเล่มแรกที่ Peter Lynch แต่ง แต่ขาดตลาด มีเหลือฉบับแปลอยู่คือเล่มที่ 2 และเล่มที่ 3 ซึ่งผมไปเจอที่ร้าน Se-ed จึงซื้อเก็บไว้เอง เผื่อจะขาดตลาดอีก

เล่ม 2 Beating the Street และ เล่ม 3 Learn to Earn ฉบับภาษาไทย ยังพอจะมีวางขายอยู่ครับ

เขียนมาถึงตรงนี้ เลยอยากจะชี้ให้ผู้อ่านทุกท่านเห็นครับ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ ถ้าคุณอยากจะฝึกฝนตัวเองให้เก่งขึ้น ฉลาดขึ้น รอบรู้มากขึ้น คงจะหนีไม่พ้นการอ่านหนังสือที่มีประโยชน์ ความสามารถในการอ่านหนังสือ ทำให้เรามีความสามารถพิเศษ เสมือนทำให้เราเป็นแวมไพร์ ดูดสมองของผู้เขียน ให้มาอยู่ในสมองของเราได้ ผู้แต่งใช้เวลาทั้งชีวิตของเขา วิจัยศึกษาหาข้อมูล ลองผิดลองถูก เพื่อเขียนหนังสือออกมา 1 เล่ม แต่เราสามารถดูดและซึมซับความรู้เหล่านั้นได้จากการอ่าน ซึ่งใช้เวลาในหลักวันหรือหลักสัปดาห์เพื่ออ่านหนังสือเล่มใดๆเท่านั้นเอง จะอ่านหนังสือให้ได้เยอะๆนั้น ทักษะทางภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน เป็นทักษะที่จำเป็นมาก เพราะแหล่งข้อมูลความรู้ที่มีในโลก ถูกถอดรหัสให้อยู่ในภาษา 2 ภาษานี้ครับ ไม่ต้องน้อยใจ ในภาษาไทยของเรา ภาษาไทย ภาษาของชาติเราเราภูมิใจ แต่อย่าหยุดอยู่แค่ภาษาเดียวครับ หมั่นเรียนรู้ หมั่นขวนขวาย ฝึกฝนภาษาที่ 2 และภาษาที่ 3 อ่านหนังสือในภาษาที่ตนเองไม่ถนัด สักวันจะเก่งขึ้นเองครับ

เป็นกำลังใจให้ทุกคน ในการเรียนรู้ต่อไป เป็นกำลังใจให้ทุกคนในการหยิบหนังสือเล่มต่อไปขึ้นมาอ่านครับ…keep fighting!…加油!

Read More

คิดอย่างไรดีกับการ #ย้ายประเทศ (ตอนที่ 1)

เนื่องด้วยเหตุการณ์แพร่ระบาด Covid-19 ระลอก 3 ที่ดูเหมือนรัฐบาลไทยจะแพ้ บริหารประเทศผิดพลาด ทั้งในด้านการตรวจเชิงรุก การบริหารจัดการซื้อและฉีดวัคซีน มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (รวมถึงช่างสมชาย ช่างที่ผมคุ้นเคยคอยช่วยเหลือปรับปรุงบ้านที่พัฒนาการของผมในหลายๆด้าน :'( ). ทำให้หลายๆกลุ่มเริ่ม “หมดหวัง” กับอนาคตประเทศไทย เกิดกระแส การย้ายประเทศ ขึ้นในกลุ่มสังคมออนไลน์ มีผู้สนใจศึกษา เข้าร่วมพูดคุย ตอนนี้ก็ทะลุกว่า 600,000 คนไปแล้ว

ตัวผมคนหนึ่ง ประมาณปี 2011 หรือสัก 10 ปีที่แล้ว ก็มีความคิดนี้เช่นกัน เนื่องด้วยตัวเองมีโอกาสไปเรียนที่อเมริกา ตั้งแต่ปริญญาตรี จึงมีพื้นฐานในประเทศนี้พอสมควร เพื่อนฝูง ความสามารถด้านภาษา สังคม วัฒนธรรม หรือโอกาสการทำงาน ถ้าว่าไปก็ถือว่าพร้อมพอสมควรเลย ผมวันที่ตัดสินใจได้แม่น วันนั้นผมเดินคุยกับตัวเองที่ถนน Embarcadero ในเเมือง San Francisco ว่าจะเอาอย่างไรดี บนถนนเส้นนี้ Embarcadero ก็ถือว่าเป็นถนนที่สวยมาก คนซานฟราน ชอบมาวิ่งออกกำลังกายที่ถนนเส้นนี้ เพราะอยู่ติดกับมหาสมุทธเลย อากาศดี วิวสวย ถนนเรียบไม่ขรุขระ

บรรยากาศ Embarcadero Road ริมขอบอ่าวของเมือง San Francisco

ผมมาเดินอยู่ที่นี่ เพราะเป็นช่วงที่ผมขอลาทางจุฬาลงกรณ์ มาเข้าร่วมประชุมวิชาการด้านสตาร์ทอัพ และก็ถือโอกาสนี้เยี่ยมเพื่อนๆ สมัยเรียนที่ Stanford ซึ่งส่วนมากก็ยังทำงานอยู่ในบริเวณ Silicon Valley นี้ และพ่วงพูดคุยเรื่องงานกับหลายๆบริษัทด้วย

ผมเดินอยู่พักใหญ่เลย หยุดหลับตาคิดบ้าง หายใจลึกบ้างๆ ว่าเอาอย่างไรดี มันช่างเป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่พอสมควร การตัดสินใจนี้จะส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆทั้งในปัจจุบัน (พ่อ แม่ พี่ น้อง แฟน ของผม) และคนในอนาคตที่ยังไม่ได้เกิดอีก (ลูกๆ หลานๆ…คิดไกลไปไหม ลูกสักคนตอนนี้ก็ยังไม่มี…ฮา) อารมณ์คิดถึงเหล่ากงของผม คุณลักษณบุล อัศวานันท์ ว่าตอนนั้นเหล่ากงคิดอย่างไร ที่อพยพมาจากซัวเถา Shantou ประเทศจีน เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เหล่ากงคิดมากอย่างผมหรือปล่าว หรือว่ามันไม่มีอะไรจะให้หวังแล้วสำหรับประเทศจีนในตอนนั้น เลยมาประเทศไทยดีกว่า ความรู้สึกของเหล่ากงเป็นอย่างไร เหล่ากงกลัวไหมที่จะต้องเริ่มต้นใหม่ในประเทศที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตัวเอง

ผมเกือบเอาความกล้าหาญของเหล่ากงเป็นตัวอย่าง แล้วก็ตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่อเมริกา เหมือนที่เหล่ากงย้ายตัวเองมาอยู่ที่ไทย เหล่ากงมาเมืองไทย ทำให้ผมมีวันนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีทุกๆวันที่ได้ตื่นเต้นกับการทำงานว่าจะทำอะไรเพิ่มเติมได้ สร้างอะไรขึ้นมาได้บ้าง ผมอยากให้หลานๆผมในอนาคต มีโอกาสเหมือนผมเช่นกัน ดังนั้นผมจะตัดสินใจเหมือนเหล่ากง ผมต้องย้ายมาอเมริกา!

ความคิดนี้อยู่ในหัวผมสัก 5 นาที แล้วผมก็คิด อะไรหลายๆอย่างในหัวผมขึ้นต่อ ผมเคยอ่านหนังสือและบทความหลายๆบทความ ใจความที่ผมพอจำได้คือ The second half of the 20th century is the century of America…ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 (1951-2000) คือศตวรรคของประเทศอเมริกา but the 21th century is the century of Asia…แต่ศตวรรษที่ 21 (2001 – 2100) นั้นจะเป็นศตวรรษของภูมิภาคเอเชีย มุมมองนี้ ทำให้ผมวิเคราะห์สถานการณ์ใหม่ ตัวผมเองอยู่ในเอเชียแล้ว และก็สร้างพื้นฐานของตัวเองไว้พอสมควรแล้ว ทำไมจึงอยากที่ดั้นด้นออกจากประเทศบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอะไรใหม่ๆของเศรษฐกิจโลก มาอยู่อีกประเทศซึ่งกำลังจะกลายเป็นอดีตของความรุ่งเรืองไป ผมชั่งน้ำหนัก 2 ความคิด การย้ายถิ่นฐานของเหล่ากง กับศตวรรษของเอเซีย มันมีอะไรที่ตกหล่นไปหรือปล่าว…แล้วสุดท้ายผมก็เจอ

ร้านทองบ้วนฮั่วล้ง ที่คุณลักษณบุล อัศวานันท์ (เหล่ากง) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2490
โดยมีหลานชายคนโต คุณพงศ์ไทย อัศวานันท์​ สืบทอดธุรกิจอยู่จนถึงปัจจุบัน

ผมค้นพบว่า สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงระหว่าง เวลาของเหล่ากง และเวลาของผม ก็คือ เทคโนโลยีด้านการเดินทางและการสื่อสาร ในสมัยเหล่ากง สื่อสารกันโดยจดหมาย เดินทางระหว่างประเทศคือการนั่งเรือสำเภา…โลกในสมัยนั้นเป็นโลกที่ห่างไกลกันมาก ต่างจากโลกสมัยนี้ ข้อมูล การติดต่อสื่อสาร ทำได้ทันทีหลักวินาที การเดินทางไปมาหากันเพียงหลักชั่วโมงหรืออย่างมากก็ 1 วัน โลกในปี 2021 ถูกย่อส่วนลงมากเมื่อเทียบกับปี 1921

ผมดีใจมากที่คิดมาถึงกรอบความคิดนี้ได้ ความลำบากใจที่จะต้องจากครอบครัวและทิ้งสิ่งต่างๆที่ผมได้สร้างไว้ที่เมืองไทย หายไป ประเทศอเมริกา เป็นประเทศที่เจริญ เป็นประเทศที่มีคนเก่งๆเยอะ เป็นประเทศที่มีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยระดับโลกหลายแห่ง ผมอยากจะมีส่วนร่วม เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ให้ครอบครัวผมมีโอกาสเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน และผมก็สามารถพาตัวผมเองและครอบครัวในอนาคตของผมเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ ทั้งๆที่ผมและครอบครัวยังอยู่ที่ประเทศไทย สิ่งที่ผมต้องทำก็คือการขยันเดินทาง ขยันหาความรู้ บอกกับตัวเองว่า เราจะไม่ทิ้งอเมริกา เราจะเดินทางมาเยี่ยมเยียมเพื่อนเก่าๆ หาทางสร้างเพื่อนใหม่ๆ มาดูงาน เข้าสัมนาวิชาการ มาหาความรู้ความคิดใหม่ๆในอเมริกา โดยอย่างน้อยต้องมา 1 ครั้งในทุกๆ 2 ปี ถ้าเพื่อนคนไหนแต่งงาน เราจะต้องไปร่วมงานแต่งงานของเขา ถ้ามีเพื่อนสมัยเรียนคนไหนทักเข้ามาหาว่าจะเดินทางมาเที่ยวไทยหรือครอบครัวเขาจะมาเมืองไทย ไม่ว่าเราจะยุ่งขนาดไหน เราสัญญากับตัวเองว่าเราจะไปต้อนรับเขา พาเขาไปทานข้าวและพาเขาเที่ยวสัก 1 วัน ผมว่าสิ่งเหล่านี้ ทำให้ผมยัง keep in touch มีเส้นบางๆเชื่อมผมอยู่กับประเทศอเมริกา เสมือนว่าผมก็พอจะได้อยู่ที่ประเทศอเมริกาสักเสี้ยวหนึ่ง เหมือนกัน

เดินทางมาร่วมงานแต่งงานเพื่อนที่ San Francisco, USA
เดินทาง 2 วัน ร่วมงาน 2 วัน พักอีก 1 วัน รวมเป็น 5 วัน กลับมาทำงานต่อ

ที่จริงผมยังมีเรื่องเล่าต่อ ว่าสาเหตุอะไรที่เมืองไทยน่าอยู่ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นประเทศชั้นนำในระดับเวทีโลก แต่เราก็ไม่ได้น่าเกลียดมาก ประเทศไทยยังมีหวัง แต่เราต้องช่วยกันพัฒนา สำหรับสิ่งดีๆที่ผมชอบของประเทศไทย และสิ่งที่ผมอยากจะเสนอว่าเราควรจะช่วยกันปรับปรุงกันอย่างไร ผมขอเก็บไว้เล่าในตอนที่ 2 นะครับ ตอนนี้เขียนมายาวพอสมควรแล้ว เกรงว่าคนอ่านจะเบื่อเสียก่อน สำหรับตอนนี้ขอฝากข้อคิดจากคำพูดของนักปรัชญา นักเขียนท่านนึงชาวสเปน/อเมริกัน ซึ่งกล่าวไว้ว่า

A man’s feet should be plated in his country, but his eyes should survey the world. — George Santayana

การมีประเทศและถิ่นที่อยู่ของตัวเอง เป็นพื้นฐานของความภูมิใจของคนในชาติ หรือแม้แต่เป็นพื้นฐานและเวทีที่เราจะสามารถสร้างความภูมิใจให้แก่เรา แก่ครอบครัว และแก่ชุมชนของเราได้ จะหาทางพัฒนาที่ๆเราอยู่ให้ดีขึ้นได้อย่างไร ในแบบฉบับของเราเอง โดยที่ไม่ต้องร้องขอให้คนอื่นช่วย แต่ละคนมีแรงและกำลังไม่เท่ากัน เราทำที่เราทำได้ แรงของเราก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้เท้าของเราฝังรากลึกลงในแผ่นดินใดๆให้มั่นคง เพราะที่นี่คือที่พักพิงของเรา ฐานมั่นคง แต่สายตาหรือวิสัยทัศน์อย่าหยุดแค่ในประเทศ เรามองและสำรวจได้อย่างไม่จำกัด มองไกลๆว่าโลกใบนี้มีโอกาสหรือสิ่งดีๆอะไรใหม่ๆให้เราสามารถสร้างประโยชน์ขึ้นได้บ้าง

สวัสดีครับ

Read More