แนะแนว

ความสามารถทางภาษา กับการไขว่ขว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง

ผมเกิดและเติบโตมาในสภาวะแวดล้อมที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร ไม่ว่าจะพูดคุยกับพ่อแม่ สื่อสารกับพี่น้อง หรือญาติๆ เรื่องนี้ ถ้าพูดถึงสมัย 30 ปีที่แล้ว ก็คงเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทย มีความคล้ายกันกับอีกหลายแสนครอบครัว ไม่ว่าครอบครัวนั้นจะอยู่ส่วนไหนของไทย นอกจากภาษาไทยแล้ว ผมก็พอได้ยินภาษาจีนแต้จิ๋วบ้าง เวลาอาม่าและเหล่าอี๊ พูดคุยกัน จำได้เป็นบางคน แต่ยังไม่ถือว่าฟังรู้เรื่อง สำหรับภาษาอังกฤษนั้นจำได้ว่าพอจะได้ยินพ่อแม่พูดกันบ้าง แต่ไม่เคยเข้าใจเลยว่าเขาพูดอะไรกัน และก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาอยู่ดีๆ เขาจะเปลี่ยนโหมดจากไทยเป็นอังกฤษทำไม พอโตหน่อยแล้วย้อนกลับไปคิด จึงพอเข้าใจว่า พ่อแม่คงจะคุยกันเรื่องผู้ใหญ่ที่ไม่อยากให้ผมและน้องๆเข้าใจว่าเขากำลังคุยอะไรกัน (คิดไปก็เสียดาย..ทำไมไม่สอนเราและน้องๆพูดตั้งแต่เด็กนะ ป่าป๊า หม่ามี๊?!)

การเริ่มเรียนภาษาอังกฤษของผมถือว่าช้ากว่าเกณฑ์ที่ควรจะเรียนพอสมควร เนื่องด้วยตอนประถมศึกษา ผมเข้าเรียนที่โรงเรียนสาธิต ประสานมิตร ในสมัยนั้นโรงเรียนสาธิตทั้งหลาย จะเริ่มสอนภาษาอังกฤษกันตอน ป.4 ถ้านับอายุแล้ว ก็คือ เด็กๆจะได้เรียนภาษาที่ 2 ตอนอายุพวกเขาปาเข้าไป 10-11 ขวบ ซึ่งก็ต้องบอกว่าถ้าอยากจะให้เรียนรู้ได้ไว พูดได้คล่องเหมือนเจ้าของภาษาอายุ 10 ขวบก็ “สายไปเสียแล้ว” ซึ่งข้อมูลนี้อ้างจากงานวิจัยของ Professor Penfield ของมหาวิทยาลัย Princeton ที่ชี้ว่า โอกาสการเรียนภาษาจะปิดลง เมื่อเด็กๆเข้าสู่ช่วงอายุ 9 ขวบ ถึงตรงนี้ สำหรับใครที่อายุเกิน 9 ขวบแล้ว พวกเราคงจะย้อนเวลากลับไปไม่ได้ เราเอาความรู้นี้ไปฝึกต่อให้กับลูกๆ หลานๆ ของเราที่ยังเด็กได้ อย่าให้พลาดช่วงทองของการเรียนรู้ภาษาของเด็กๆ สำหรับเรา ถึงแม้จะไม่สามารถพูดให้มีสำเนียงเหมือนเจ้าของภาษาได้ แต่เราก็ยังสามารถศึกษาภาษานั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาสเปน ภาษาญี่ปุ่น เพื่อหาความรู้เพิ่มเติมให้กับตัวเองได้ ซึ่งก็จะเป็นหัวข้อหลักที่ผมอยากจะเขียนในบทความนี้

อยากจะถามผู้อ่านครับ คุณพอจะทราบไหมว่าภาษาหลักๆในโลกมีภาษาอะไรบ้าง (แบ่งตามจำนวนคนที่ใช้ภาษา) ถ้าคุณตอบว่าภาษาอังกฤษ ก็ขอบอกว่าถูกต้องนะครับ ใช่แล้ว ภาษาอังกฤษนี้มีคนใช้มากที่สุดในโลก แต่อยากจะให้คุณดูกราฟด้านล่างนี้ บางทีคุณอาจจะตกใจเหมือนผม ตอนที่ผมดูครั้งแรก

ภาษาไทยของเราอยู่ในส่วนไหนนะ?

หลังจากดูกราฟนี้ รู้สึกอย่างไรบ้างครับ สำหรับผม ผมตกใจหลายประเด็นเลย ประเด็นแรกก็คือ ภาษาจีน ไม่นึกว่ามันจะสูสี กับภาษาอังกฤษมากขนาดนี้ ในมุมมองของผม อยากจะเรียนรู้ภาษาจีนเพื่อเพิ่มหนทางการทำการค้า ทางธุรกิจ การเดินทางท่องเที่ยว คนจีนมาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดปี 2019 ก่อนโควิดจะระบาด ก็ไปแตะที่หลัก 10ล้านคนต่อปี เราก็บอกตัวเองนะว่าภาษานี้สำคัญ เพราะคนจีนมีเยอะ จีนเป็นประเทศใหญ่ แต่พอมาดูสถิติ ไม่นึกว่าจะสูสี เบียดกันกับภาษาอังกฤษขนาดนี้ ในยุคปี 2021 ยังเห็นได้ชัดว่า ความจริงจังของคนไทยในการเรียนภาษา ระหว่างภาษาอังกฤษกับภาษาจีน ยังคงห่างชั้นกันมาก ถ้าจะเปรียบเหมือนการทานอาหาร การเรียนภาษาอังกฤษ สำหรับคนไทยคงจะเหมือนกับการทานผัก ผลไม้ ควรจะทานเพื่อให้สุขภาพดี แต่สำหรับการเรียนภาษาจีนสำหรับคนไทย คงจะเหมือนการกินวิตามินเสริม จะกินบ้างไม่กินบ้างก็ได้ ยังไม่ซีเรียสจริงจังเท่าไหร่ ซึ่งโลกในอนาคตต่อไปคงจะเป็นอย่างนี้ไม่ได้ ต้องจริงจังกับภาษาจีนให้มากๆครับ

ประเด็นที่ 2 คือนอกเหนือจากภาษาจีน ลองดูอันดับที่ 3 และ 4 ซิครับ แทบจะเป็น 2 ภาษาที่คนไทยไม่คิดถึงเลย ภาษาฮินดี และภาษาสเปน 2 ภาษานี้ มีคนพูดเกินกว่า 500 ล้านคนเสียอีก ลองคิดดูว่าถ้าเราสามารถสื่อสารได้มากกว่าภาษาอังกฤษ แต่ได้ทั้งภาษาจีน และภาษาสเปน โอกาสในการเรียนรู้ สื่อสาร ความเข้าใจของเราต่อโลกใบนี้มันคงเยอะยิ่งๆขึ้นมากเลย จริงไหมครับ โดยเฉพาะภาษาสเปน ที่ไม่ใช่คนที่รู้ภาษานี้จะอยู่แต่ในประเทศสเปนเท่านั้น แต่รวมถึงอีกหลายประเทศในแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ซึ่งในสมัยก่อนอยู่ภายใต้อาณานิคมของจักรวรรดิสเปน ผมเคยมีโอกาสไปเที่ยวเมือง Cancun ประเทศแม็กซิโกกับเพื่อนๆสมัยเรียน ประเทศนี้ภาษาหลักของเขาก็คือภาษาสเปน Español ครับ

เดินทางช่วง Spring Break เมื่อปี 2005 กับเพื่อนๆสมัยมหาวิทยาลัย
บินไปที่ Cancun, Mexcio เยี่ยมชมประวัติศาสตร์ ปิระมิดของคนเผ่ามายา ในอดีต

ประเด็นตกใจประเด็นที่ 3 ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ผมอยากจะเขียนบทความนี้ (แหม ให้อ่านมาตั้งนาน…อิอิ) คืออยากจะให้ท่านผู้อ่านสังเกตครับ ว่าภาษาไทยอยู่ตรงไหนในกราฟของจำนวนผู้รู้ ผู้ใช้ภาษา …อันดับ 7 จากท้ายตารางนะครับ หรือถ้าเอาเปรียบเทียบสำหรับคนที่รู้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่นี่ ก็เกือบจะสุดท้าย รั้งอยู่กับภาษา Swahili ครับ และนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงตกใจ ทำไมไทยมันถึงเล็กอย่างนี้ !? ภาษาไทย เมืองไทย ที่ผมบอกได้เลยว่ามันคือโลกทั้งใบของผมตั้งแต่เกิดจนถึงมัธยมตอนปลาย โลกทั้งใบของผม พอมาดูมีขนาดเล็กนิดเดียวเอง

เปรียบเทียบระหว่าง โลกใบนี้ กับโลกที่ผมรู้จักเมื่อครั้นเติบโตขึ้นมา…มันคนละ size จริงๆ

แล้วประเด็นสำคัญ ประเด็นหัวใจอยู่ตรงไหน สำหรับมุมมองเรื่องการหาความรู้ เราอยู่เมืองไทย ใช้ภาษาไทยสบายๆได้ก็จริง แต่ลองคิดดูนะครับ ประชากรจำนวน 60 กว่าล้านคน ในประเทศไทย จะสามารถสร้างองค์ความรู้ ความคิดต่างๆ เพื่อมาถ่ายทอดเป็นภาษาไทยให้คนในประเทศไทยได้มากขนาดไหน ถ้าเทียบกับองค์ความรู้ที่อยู่ในภาษาอังกฤษ หรือองค์ความรู้ที่อยู่ในภาษาจีน ที่มีคนกว่าพันล้านคน คอยสร้างผลงาน เขียนผลงาน แปลผลงานออกมาตลอด คงจะเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย ลองคิดนะครับ ถ้าเราอยากจะหาความรู้ แต่เราชำนาญเพียงภาษาไทยเพียงภาษาเดียว ไม่เคยอ่านหนังสือภาษาอังกฤษมาก่อนเลย ให้นึกถึงเวลาเราเดินเข้าห้องสมุดซึ่งมีแต่หนังสือภาษาไทย ห้องนั้นคงจะเป็นห้องเล็กๆ มีหนังสือสักหนึ่งร้อยเล่มให้เราได้เลือกอ่านหาความรู้ แต่ถ้าเอาไปเปรียบกับห้องสมุดหนังสือภาษาอังกฤษ หรือห้องสมุดภาษาจีน ห้องสมุดทั้งสองห้องนั้น คงจะมีหนังสือไม่ต่ำล้านเล่มอย่างแน่นอน ฐานความรู้จึงมีความต่างกันมากครับ

ผมได้ประสบเหตุการณ์นี้โดยตรงกับตัวผมเอง ในช่วงโควิดที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้นั่งศึกษาบางเรื่องที่ผมสนใจในรายละเอียดเยอะขึ้น (เรื่องที่ผมกำลังศึกษาลงรายละเอียดอยู่คือ AI for Business, Children Learning and Psychology, และ Investment) ครับ โดยผมหยิบเรื่องการลงทุนมาเป็นเรื่องแรก โดยหนังสือที่ผมหยิบมาศึกษาเล่มแรกชื่อว่า One Up on Wall Street แต่งโดย​ Peter Lynch ซึ่งผมเป็นหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับการลงทุนที่ดีมากๆ ผมยังเสียดายว่าน่าจะได้อ่านเล่มนี้เมื่อสัก 15 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมเริ่มต้นลงทุนในตลาดหุ้นครั้งแรก ผลตอบแทนด้านการลงทุนของผมคงจะได้เยอะกว่านี้มากเลย :'(.

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ผมก็ไม่รอช้าที่จะซื้อเล่มที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นเนื้อหาต่อโดยผู้เขียนคนเดิม จากร้านหนังสือ มาอ่านต่อ และก็บอกต่อให้กับทั้งน้องสาวและน้องชายผม ให้รู้จักหนังสือเล่มนี้ เพื่อให้พวกเขาได้มีความคิดเริ่มต้นลงทุนถูกต้อง จะได้ไปไกลมากกว่าผม เพราะเริ่มต้นเร็วกว่า ผมอยากจะให้น้องๆได้อ่านหนังสือเล่มนี้มาก จนบอกว่าถ้าใครสนใจอยากจะอ่าน เฮียอาสาซื้อหนังสือและส่งให้เลย ฟรี มีหน้าที่อ่านอย่างเดียว ปรากฎว่าน้องสาวคนที่สองของผมสนใจ แต่บอกผมว่า “เฮีย เมย์ขอฉบับแปลเป็นภาษาไทยนะ น่าจะอ่านง่ายกว่า” พอได้ยินว่าน้องอยากอ่าน จะภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ยังไงก็ได้ ผมดีใจมาก เดี๋ยวจะหามาให้เข้าอ่าน ผมจึงบุกไปที่ร้าน Kinokuniya สาขา Paragon ซึ่งก็เป็นร้านหนังสือที่ผมซื้อหนังสือมาอ่านประจำ ไปถึงถามที่หน้าเคาน์เตอร์ ว่ามีหนังสือเล่มนี้ไหม ฉบับแปลเป็นภาษาไทยครับ …รอ…รอ…รอ แล้วก็ได้คำตอบแบบ Surprise ว่า “ไม่มีค่ะ ขาดตลาดไปสักพักนึงแล้ว ทางสำนักพิมพ์ไม่ได้พิมพ์ต่อค่ะ เหลือแต่เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ที่พี่ถืออยู่ในมือนี่หละค่ะ” ผมนี่งงไปเลย ฮ่ะ! ไม่มีขาย ทั้งที่ๆเราอยากจะซื้อไปให้น้องอ่าน…แล้วถ้าคนอื่นอยากอ่านหละ ก็ไม่มี.

One Up on Wall Street ฉบับภาษาอังกฤษที่ร้าน Kinokuniya Paragon
ฉบับภาษาไทย หายากก เสมือน Rare item เลย ถ่ายฉบับภาษาอังกฤษเอาไว้เป็นที่ระลึก
บอกตัวเองว่า ถ้าเราหวังเพิ่งจะอ่านแต่หนังสือภาษาไทย เราจะได้อ่านหนังสือน้อยมากๆเลย

“เมย์ เฮียอยู่ที่คิโนแล้ว แต่มันไม่มีภาษาไทย จะอ่านภาษาอังกฤษได้ไหม” “อืม…ไม่เป็นไรเฮีย รอก่อนก็ได้ มีเวอร์ชันไทยเมื่อไหร่ ค่อยมาให้อ่าน”… ผมนี่เซ็งเป็ดเลยครับ แต่ใจยังไม่ย่อท้อครับ ยังไปตามหาที่ Kinokuniya สาขาเอ็มควอเทียร์ ก็ไม่มี คำตอบเดิม สำนักพิมพ์ไม่ได้พิมพ์ต่อ…ไปต่อที่ร้าน Se-ed สาขาพระราม 4 สาขาอ่อนนุช สาขา Paradise ไปห้างไหนมีร้านหนังสือ ต้องเข้าไปถาม ไม่มีสักร้านครับ ระหว่างการผจญภัยนี้อยากจะได้หนังสือแปล One Up on Wall Street หนังสือเล่มแรกที่ Peter Lynch แต่ง แต่ขาดตลาด มีเหลือฉบับแปลอยู่คือเล่มที่ 2 และเล่มที่ 3 ซึ่งผมไปเจอที่ร้าน Se-ed จึงซื้อเก็บไว้เอง เผื่อจะขาดตลาดอีก

เล่ม 2 Beating the Street และ เล่ม 3 Learn to Earn ฉบับภาษาไทย ยังพอจะมีวางขายอยู่ครับ

เขียนมาถึงตรงนี้ เลยอยากจะชี้ให้ผู้อ่านทุกท่านเห็นครับ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ ถ้าคุณอยากจะฝึกฝนตัวเองให้เก่งขึ้น ฉลาดขึ้น รอบรู้มากขึ้น คงจะหนีไม่พ้นการอ่านหนังสือที่มีประโยชน์ ความสามารถในการอ่านหนังสือ ทำให้เรามีความสามารถพิเศษ เสมือนทำให้เราเป็นแวมไพร์ ดูดสมองของผู้เขียน ให้มาอยู่ในสมองของเราได้ ผู้แต่งใช้เวลาทั้งชีวิตของเขา วิจัยศึกษาหาข้อมูล ลองผิดลองถูก เพื่อเขียนหนังสือออกมา 1 เล่ม แต่เราสามารถดูดและซึมซับความรู้เหล่านั้นได้จากการอ่าน ซึ่งใช้เวลาในหลักวันหรือหลักสัปดาห์เพื่ออ่านหนังสือเล่มใดๆเท่านั้นเอง จะอ่านหนังสือให้ได้เยอะๆนั้น ทักษะทางภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน เป็นทักษะที่จำเป็นมาก เพราะแหล่งข้อมูลความรู้ที่มีในโลก ถูกถอดรหัสให้อยู่ในภาษา 2 ภาษานี้ครับ ไม่ต้องน้อยใจ ในภาษาไทยของเรา ภาษาไทย ภาษาของชาติเราเราภูมิใจ แต่อย่าหยุดอยู่แค่ภาษาเดียวครับ หมั่นเรียนรู้ หมั่นขวนขวาย ฝึกฝนภาษาที่ 2 และภาษาที่ 3 อ่านหนังสือในภาษาที่ตนเองไม่ถนัด สักวันจะเก่งขึ้นเองครับ

เป็นกำลังใจให้ทุกคน ในการเรียนรู้ต่อไป เป็นกำลังใจให้ทุกคนในการหยิบหนังสือเล่มต่อไปขึ้นมาอ่านครับ…keep fighting!…加油!

Read More

เราขยันเรียนไปทำไม เพื่ออะไร?

“เรียนไปไร้ค่า ตายh’า ลืมหมด” นี่เป็นคำพูดที่ผมจำไม่ลืม คำพูดนี้คุณลุงของผมซึ่งเป็นคนที่มีฐานะพูดให้ผมฟัง ในระหว่างการรวมญาติรับประทานอาหาร ที่ภัตตาการ ไต๋ฮี่ เมื่อเสร็จจากเช็งเม้ง เคารพศพเหล่ากงเหล่าม่า ที่จังหวัดชลบุรี

บทสนทนานี้เกิดขึ้น ตอนผม อยู่ ม.1 เพิ่งจะเข้าวัยรุ่นได้ไม่ถึงปี ผมถือว่าเป็น ‘หลาน’ ในเจนเนอร์เรชั่น 3 ที่เรียนได้ดี ถ้าเปรียบเทียบกับหลานๆ คนอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับลูกๆของลุง ลุงผมคงจะเป็นสไตล์ ฮากูน่า มาทาท่า ตามฉบับ Lion King ปล่อยลูกๆเขาตามสบาย แต่กลับกัน พ่อแม่ผมให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียน แม่ไม่เท่าไหร่ แต่พ่อจะคอยถามตลอดว่าเกรดเป็นอย่างไร เหมือนว่าถ้าพ่อไม่รู้ว่าจะคุยอะไรกับพวกเรา คำหนึ่งที่จะออกจากปากพ่อเสมอคือ “ไปอ่านหนังสือ”

“เรียนไปทำไม ดูอย่างลุงสิ ไม่ได้สนใจเรียน เรื่องที่เรียนก็ไม่เห็นเคยได้ใช้ ปีทาโกรัส ไม่เคยใช้ ตรีโกณมิติ ไม่เคยใช้ สูตรเรขาคณิต ไม่เคยใช้” คำพูดของลุง ทำให้ผมสับสนระดับหนึ่ง สงสัยว่าสิ่งที่ตัวเองเรียนไปมันมีค่าใช่ไหม ถ้ามองตอนนั้น เมื่อ 25 ปีก่อน ทั้งลุงและลูกๆของลุงดูเหมือนว่าจะมีอะไรหรูๆใช้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นรถที่โก้กว่าใหม่กว่า ลูกพี่ลูกน้องผมที่ใส่เสื้อผ้าแฟชั่น Armani Giordano หรือรองเท้าหนัง Next ที่ดำเงา เท่าที่ผมจำได้เสื้อที่ผมใส่ ส่วนมากเป็นเสื้อยืดฟรี (ตอนนี้ก็ยังใส่เสื้อยืดฟรีอยู่…ฮา) ถ้าใส่ไปเดินห้างหน่อยจะใส่ยี่ห้อ Body Glove รองเท้าผ้าใบธรรมดา…ผมใช้เวลานานในการคิดถึงคำพูดของคุณลุง ว่ามันใช่ไหมหนอ “เรียนไปไร้ค่า ตายh’าลืมหมด”

คำถามนี้ ผมใช้เวลาตอบเกือบ 15 ปี จนวันที่ผมจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Stanford แล้วได้เริ่มต้นทำงานตอบแทนทุนรัฐบาลที่ส่งเสียผมเรียน ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมจึงได้คำตอบ ว่าจริงๆแล้ว ไม่ใช่ สิ่งที่ลุงพูด ไม่ถูก ผมอยากจะเขียนบทความนี้แชร์ว่า หลายๆคนมีความคิดว่า เรียนไปทำไม ยังไงก็ไม่ได้ใช้ในชีวิตจริงอยู่แล้ว คนที่เรียนไม่เก่ง หรือไม่ได้เรียนอย่างคุณตัน ยังประสบความสำเร็จได้ คำพูดเหล่านี้มันมีจุดบอด สิ่งที่คนมองข้ามตรงไหน เผื่อว่าจะได้เป็นแง่คิดใหม่ ปรับให้กับลูกๆหลานๆของท่าน หรือว่าถ้าน้องๆคนไหนที่ได้มาเจอบทความนี้ ก็จะขอเป็นกำลังใจให้ในการเรียนพากเพียรต่อไปครับ

ถ่ายรูปกับอดีตนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร และเพื่อนนักเรียนทุนรัฐบาลไทย ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ในระดับปริญญาตรี-โท-เอก
จบการศึกษา รับปริญญา 2 ใบ ในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท จาก Stanford University มหาวิทยาลัย Top Five ของโลก ซึ่ง เป็นศูนย์กลาง หัวใจของ Silicon Valley บริเวณที่ สร้างบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก เช่น Hewlett Packard, Google, Facebook, Tesla, eBay, Airbnb

หลังจากที่ได้เรียนและจบการศึกษาด้าน Computer Science (วิทยาการคอมพิวเตอร์) จาก Stanford ผมมีโอกาสเข้ามามากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอให้เข้าทำงานกับบริษัท Microsoft, Apple, Google, Facebook, หรือหลายๆ Startups ใน San Francisco แต่เนื่องด้วยคำสัญญาที่ให้ไว้กับรัฐบาลไทย ว่าต้องกลับมารับใช้ประเทศ เอาความรู้ที่ได้เรียน กลับไปสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย สัญญาก็ต้องเป็นสัญญาครับ ปิดประตูการทำงานที่อเมริกา บินกลับมาเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ประเทศไทย หลังจากที่จากไปเกือบ 6 ปี

ทำงานที่จุฬาลงกรณ์ ในตำแหน่งอาจารย์ คำว่าอาจารย์ หลายๆคนคงจะคิดถึงว่า คือผู้สอนหน้าชั้นเรียน แต่จริงๆแล้ว นอกเหนือจากสวมหมวกผู้สอน ยังมีบทบาทอีกมาก (สอนหน้าชั้นใช้เวลาจริงๆเพียง 30% เท่านั้นครับ) บทบาทอื่นๆ ดังเช่นหมวกนักเขียน หมวกนักวิจัย หมวกผู้บริหารหลักสูตร ผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ หมวกอาจารย์ที่ปรึกษา วิทยากรและที่ปรึกษาในหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน หรือว่าภาครัฐ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ตอนนี้ทำงานเข้าปีที่ 13 แล้ว ยังมีงานใหม่ๆมาให้ทำเรื่อยๆ ไม่เบื่อเลย

แล้วจริงหรือปล่าว ‘เรียนไปไร้ค่า ตายh’าลืมหมด’ …จะว่าไปแล้ว บางเรื่องก็ไม่ได้ใช้จริงๆ แคลคูลัส ตรีโกณมิติ ฟิสิกส์ F=ma เคมี การคำนวณโมล ชีววิทยา ไฟลัมป์ แต่บางเรื่องก็ต้องใช้ทุกๆวัน เช่นภาษาอังกฤษ บางเรื่องยังเสียใจไม่ได้เรียนไว้แต่เนิ่นๆ เช่นภาษาจีน 汉语 จนไม่นานมานี้เอง ผมได้ข้อสรุปว่า ไม่ใช่ เรียนไปไม่ได้ไร้ค่า วันนี้โตพอที่จะวิเคราะห์เองได้ ต่างจากตอนอายุ 13 ขวบ ผมยิ้ม และบอกกับตัวเองว่า ผมไม่เห็นด้วยกับความคิดและคำพูดของลุงผมเลย

คุณครูมิเชล ขณะสอนภาษาจีนพื้นฐานให้น้องจากสาธิตรามคำแหง อายุ 6 ขวบครึ่ง ในหมู่บ้านพฤกษาวิวล์ พัฒนาการ ใช้เวลาว่างจากการเล่นสนามในหมู่บ้าน 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ปูพื้นฐานภาษาจีน

ใช่ บางเรื่องที่เราเรียนในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นระดับมัธยมต้น หรือมัธยมปลาย เราอาจจะไม่ได้ใช้ในอนาคต แต่ประเด็นการเรียนสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ว่าเราจะได้ใช้มันในอนาคตหรือปล่าว แต่สิ่งที่เป็นประเด็นคือ…โอกาสในการศึกษาต่อ โอกาสในอนาคตของแต่ละคน เด็กที่เรียนแผนวิทย์ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ใช้ฟิสิกส์ ตอนเขาอายุ 30 ปี แต่ตอนที่เขาเรียนแผนวิทย์ เขาได้เพิ่มโอกาสในการเรียนต่อในระดับมหาลัยของเขากว่าเด็กที่เรียนแผนศิลป์ หรือไม่ได้เรียนเลยหลายเท่าตัว

เด็กที่เรียนแผนวิทย์ มีโอกาสที่จะเอนทรานซ์ ศึกษาต่อในสาขาวิชา แพทย์ สาธารณสุข วิศวะ วิทยาศาสตร์ สถาปัตย์ คอมพิวเตอร์ ซึ่งเด็กแผนศิลป์ถูกปิดโอกาสนั้นเลยตั้งแต่พวกเขาเลือกแผนศิลป์ ตั้งแต่ อายุ 15 ปี โอกาสของเด็กแผนวิทย์จะมากกว่าเด็กแผนศิลป์คำนวณ และโอกาสของเด็กแผนศิลป์คำนวณก็จะมากกว่าโอกาสของเด็กแผนศิลป์ภาษาตามลำดับ เพราะถ้าเด็กแผนวิทย์ตัดสินใจอยากจะเรียนเกี่ยวกับด้านบริหารธุรกิจ ดังเช่นคณะที่ผมสอนอยู่ ช่วงโค้งสุดท้าย เขาก็ยังสามารถเตรียมตัว สมัครสอบเข้าแข่งขันได้ แต่สำหรับเด็กแผนศิลป์คำนวณ หรือศิลป์-ภาษา ถ้าอยากจะเรียนหมอ หรือวิศวะ เขาแทบไม่มีโอกาสเลย นอกจากหาทางกวดวิชา เรียนเนื้อหาแผนวิทย์ต่างๆที่เพื่อนในรุ่นเดียวกัน ได้เรียนมาก่อนแล้ว 3 ปี1

ผมมีวันนี้ได้ เพราะผมตั้งใจเรียน จริงๆแล้วผมไม่ใช่เด็กที่เรียนเก่ง (การตั้งใจเรียนกับการเรียนเก่ง เป็นคนละเรื่องกัน) การตั้งใจเรียนเปิดโอกาสให้ผมมากมาย โอกาสไปสอบชิงทุน โอกาสที่จะได้เรียนต่อต่างประเทศตั้งแต่ระดับปริญญาตรี โอกาสที่ได้เจอเพื่อนเก่งๆ ผู้คนเก่งๆจากทั่วโลกในรั้วมหาวิทยาลัย Stanford เปิดโลกทัศน์เล็กๆของผม ซึ่งอยู่ในกรุงเทพมาตลอด 18 ปี ได้พูดคุย เรียนรู้จากเพื่อนที่มาจากหลายเชื้อชาติ หลากวัฒนธรรม โลกใบนี้ช่างกว้างใหญ่เหลือเกิน ทำให้รู้ว่าประเทศไทย โลกที่ผมรู้จักเล็กนิดเดียวเอง

ผมและเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัย James Michel ซึ่งตอนนี้เป็นผู้บริหารระดับสูงที่บริษัท Facebook Inc.

เรื่องการทำงาน ผมมีวันนี้ได้ก็เพราะตั้งใจเรียน มันสร้างและเปิดโอกาสให้ผมมาก ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการได้มาเป็นอาจารย์ที่บัญชี จุฬา พออยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ยิ่งเป็นประตูบานใหญ่เปิดให้รู้จักใครหลายๆคนที่น่าสนใจ ทั้งศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จ อย่างพี่เฉลิมพล ปุณโณทก ผู้ก่อตั้งบริษัทหุ่นยนต์ดินสอ บริษัทหุ่นยนต์แรกของไทย ที่สามารถส่งออกไปขายต่างประเทศทั้งในยุโรป หรือญี่ปุ่นได้ อาจารย์รุ่นพี่ ที่มีความรู้ความสามารถ ดังเช่นท่านคณบดีในปัจจุบัน รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ที่คอยแนะนำ เปิดมุมมองให้ผมในหลายๆด้าน โอกาสได้พบปะ พูดคุย เป็นที่ปรึกษาให้บริษัท และหน่วยงานรัฐที่ได้เข้ามาร่วมงานกับทางคณะและหลักสูตร CUTIP ที่ผมดูแลอยู่ เช่น ปตท ปูนซีเมนต์ไทย ธนาคารกสิกร กรุงเทพประกันภัย โรงพยาบาลกรุงเทพ ฯลฯ โอกาสได้รู้จักกับผู้ประกอบการท้องถิ่นจากการไปบรรยายที่ เชียงใหม่ พิษณุโลก สุโขทัย ขอนแก่น สกลนคร หรือ โอกาสที่ได้สร้างความสัมพันธ์กับอาจารย์และผู้ประกอบการในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลย์เซีย เยอรมัน สวิซเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา

สุดท้ายอยากจะบอกทุกๆคนอีกครั้งนะครับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองที่กำลังเลี้ยงลูกๆ และไม่รู้ว่าจะตอบลูกว่าอย่างไร เวลาเขาถาม ‘เรียนพวกนี้ไปทำไม ได้ใช้เมื่อไหร่’ หรือน้องๆที่กำลังเรียนรู้ และสงสัยว่าเราเรียนหนังสือไปทำไม เราเรียนเพื่อเปิดโอกาสให้อนาคตของเราให้มากที่สุดครับ

จากคำพูดว่า เรียนไปไร้ค่า ตายh’าลืมหมด ผมขอเปลี่ยนเป็น

เรียนไปมีค่า คุ้มเวลาสุดๆ

Happy Learning & Studying ครับ ทุกๆคน

1 บทความนี้ที่ผมเขียนขึ้น ใช่ว่าผมเห็นด้วยกับ ‘ระบบ’ การศึกษาที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ที่ตัดโอกาสเด็กๆตั้งแต่ตอนที่เขาเลือกแผนตอน ม.4 หรือ ไม่ได้มองข้ามอาชีพทางเลือกใหม่ๆ ที่ ยังไม่มีในรั้วของโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย อาชีพเฉพาะด้าน ซึ่งก็น่าตื่นเต้น ดังเช่น Youtuber / Podcaster / E-Sport Players

ปล สำหรับคนที่ไขว่ขว้า รู้ว่าเลือกทางที่ตัดโอกาสตัวเองในอดีต ที่จริงก็มีโอกาสในการเรียนรู้เพิ่มโอกาสอยู่ ในยุคของโลกดิจิตัล คุณเรียนรู้เพิ่มเติมได้ตลอดเวลาในสาขาอาชีพใหม่ๆ สำหรับ course online ที่ผมเคยซื้อและได้เรียน ผมขอแนะนำ Coursera, Udemy, และ Team Tree House นะครับ

Updated (21/04/2021)

หลังจากที่ผมได้เขียนและเผยแพร่บทความนี้ไป มีเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เขียนเสนอเพิ่มเติมในมุมมองของเขาว่า พวกเขาเรียนไปเพื่ออะไร ผมอ่านแล้วเลยขอหยิบยืมไอเดียดีๆเหล่านั้น มาเผยแพร่ไว้ ณ ตรงนี้ด้วยครับ

  • ผศ.ดร.เต๋า นักเรียนทุนรุ่นเดียวกับผม ตัวแทนประเทศไทยไปแข่งเคมีโอลิมปิกระดับนานาชาติ ในปี 2544 และได้รับรางวัลเหรียญทองกลับมา เรียน ป ตรี ที่ Harvard ป โท-เอก ที่ ​MIT ต่อทำวิจัยหลังเรียน ป เอก ที่ Cambridge ประเทศอังกฤษ บอกว่า มองย้อนไป การตั้งใจเรียน เรียนเยอะๆเพื่อให้ชินกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอๆ ซึ่งก็ตรงกับ คุณหมอโบว์ แพทย์จุฬา ผันตัวชอบเรียนด้านการเงิน ไปเรียนต่อด้าน MS Finance ที่คณะบัญชี จุฬา และไปจบ MBA ที่ Harvard Business School..ก็บอกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการ Learn how to learn..เรียนรู้ เพื่อที่จะรู้ว่าการเรียนรู้ต่อๆไป ‘ด้วยตัวเอง’ จะต้องทำอย่างไร
  • พี่เอ๋ หรือคุณครูเอ๋ วิศกรที่หัวใจเปี่ยมด้วยความให้ ผันตัวมาช่วยสอนหนังสือให้เด็กๆที่อาจจะมีโอกาสไม่มาก ที่ปากช่อง บอกว่า การเรียนทำให้เขาได้เจอกลุ่มเพื่อนดีๆ ที่สนใจการเรียนด้วยกัน ชีวิตเขาคงจะต่างจากวันนี้มาก ถ้าเขาไม่ได้มีโอกาสเจอเพื่อนดีๆกลุ่มนี้ ผมเห็นด้วยอย่างมากครับ…เรื่องการเลือกคบใคร คงจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะเขียนมาแชร์กันในครั้งหน้าครับ..ขอบคุณมากครับพี่เอ๋ ที่แนะนำประเด็นนี้

Read More