การทำงาน

คิดอย่างไรดีกับการ #ย้ายประเทศ (ตอนที่ 1)

เนื่องด้วยเหตุการณ์แพร่ระบาด Covid-19 ระลอก 3 ที่ดูเหมือนรัฐบาลไทยจะแพ้ บริหารประเทศผิดพลาด ทั้งในด้านการตรวจเชิงรุก การบริหารจัดการซื้อและฉีดวัคซีน มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (รวมถึงช่างสมชาย ช่างที่ผมคุ้นเคยคอยช่วยเหลือปรับปรุงบ้านที่พัฒนาการของผมในหลายๆด้าน :'( ). ทำให้หลายๆกลุ่มเริ่ม “หมดหวัง” กับอนาคตประเทศไทย เกิดกระแส การย้ายประเทศ ขึ้นในกลุ่มสังคมออนไลน์ มีผู้สนใจศึกษา เข้าร่วมพูดคุย ตอนนี้ก็ทะลุกว่า 600,000 คนไปแล้ว

ตัวผมคนหนึ่ง ประมาณปี 2011 หรือสัก 10 ปีที่แล้ว ก็มีความคิดนี้เช่นกัน เนื่องด้วยตัวเองมีโอกาสไปเรียนที่อเมริกา ตั้งแต่ปริญญาตรี จึงมีพื้นฐานในประเทศนี้พอสมควร เพื่อนฝูง ความสามารถด้านภาษา สังคม วัฒนธรรม หรือโอกาสการทำงาน ถ้าว่าไปก็ถือว่าพร้อมพอสมควรเลย ผมวันที่ตัดสินใจได้แม่น วันนั้นผมเดินคุยกับตัวเองที่ถนน Embarcadero ในเเมือง San Francisco ว่าจะเอาอย่างไรดี บนถนนเส้นนี้ Embarcadero ก็ถือว่าเป็นถนนที่สวยมาก คนซานฟราน ชอบมาวิ่งออกกำลังกายที่ถนนเส้นนี้ เพราะอยู่ติดกับมหาสมุทธเลย อากาศดี วิวสวย ถนนเรียบไม่ขรุขระ

บรรยากาศ Embarcadero Road ริมขอบอ่าวของเมือง San Francisco

ผมมาเดินอยู่ที่นี่ เพราะเป็นช่วงที่ผมขอลาทางจุฬาลงกรณ์ มาเข้าร่วมประชุมวิชาการด้านสตาร์ทอัพ และก็ถือโอกาสนี้เยี่ยมเพื่อนๆ สมัยเรียนที่ Stanford ซึ่งส่วนมากก็ยังทำงานอยู่ในบริเวณ Silicon Valley นี้ และพ่วงพูดคุยเรื่องงานกับหลายๆบริษัทด้วย

ผมเดินอยู่พักใหญ่เลย หยุดหลับตาคิดบ้าง หายใจลึกบ้างๆ ว่าเอาอย่างไรดี มันช่างเป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่พอสมควร การตัดสินใจนี้จะส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆทั้งในปัจจุบัน (พ่อ แม่ พี่ น้อง แฟน ของผม) และคนในอนาคตที่ยังไม่ได้เกิดอีก (ลูกๆ หลานๆ…คิดไกลไปไหม ลูกสักคนตอนนี้ก็ยังไม่มี…ฮา) อารมณ์คิดถึงเหล่ากงของผม คุณลักษณบุล อัศวานันท์ ว่าตอนนั้นเหล่ากงคิดอย่างไร ที่อพยพมาจากซัวเถา Shantou ประเทศจีน เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เหล่ากงคิดมากอย่างผมหรือปล่าว หรือว่ามันไม่มีอะไรจะให้หวังแล้วสำหรับประเทศจีนในตอนนั้น เลยมาประเทศไทยดีกว่า ความรู้สึกของเหล่ากงเป็นอย่างไร เหล่ากงกลัวไหมที่จะต้องเริ่มต้นใหม่ในประเทศที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตัวเอง

ผมเกือบเอาความกล้าหาญของเหล่ากงเป็นตัวอย่าง แล้วก็ตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่อเมริกา เหมือนที่เหล่ากงย้ายตัวเองมาอยู่ที่ไทย เหล่ากงมาเมืองไทย ทำให้ผมมีวันนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีทุกๆวันที่ได้ตื่นเต้นกับการทำงานว่าจะทำอะไรเพิ่มเติมได้ สร้างอะไรขึ้นมาได้บ้าง ผมอยากให้หลานๆผมในอนาคต มีโอกาสเหมือนผมเช่นกัน ดังนั้นผมจะตัดสินใจเหมือนเหล่ากง ผมต้องย้ายมาอเมริกา!

ความคิดนี้อยู่ในหัวผมสัก 5 นาที แล้วผมก็คิด อะไรหลายๆอย่างในหัวผมขึ้นต่อ ผมเคยอ่านหนังสือและบทความหลายๆบทความ ใจความที่ผมพอจำได้คือ The second half of the 20th century is the century of America…ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 (1951-2000) คือศตวรรคของประเทศอเมริกา but the 21th century is the century of Asia…แต่ศตวรรษที่ 21 (2001 – 2100) นั้นจะเป็นศตวรรษของภูมิภาคเอเชีย มุมมองนี้ ทำให้ผมวิเคราะห์สถานการณ์ใหม่ ตัวผมเองอยู่ในเอเชียแล้ว และก็สร้างพื้นฐานของตัวเองไว้พอสมควรแล้ว ทำไมจึงอยากที่ดั้นด้นออกจากประเทศบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอะไรใหม่ๆของเศรษฐกิจโลก มาอยู่อีกประเทศซึ่งกำลังจะกลายเป็นอดีตของความรุ่งเรืองไป ผมชั่งน้ำหนัก 2 ความคิด การย้ายถิ่นฐานของเหล่ากง กับศตวรรษของเอเซีย มันมีอะไรที่ตกหล่นไปหรือปล่าว…แล้วสุดท้ายผมก็เจอ

ร้านทองบ้วนฮั่วล้ง ที่คุณลักษณบุล อัศวานันท์ (เหล่ากง) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2490
โดยมีหลานชายคนโต คุณพงศ์ไทย อัศวานันท์​ สืบทอดธุรกิจอยู่จนถึงปัจจุบัน

ผมค้นพบว่า สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงระหว่าง เวลาของเหล่ากง และเวลาของผม ก็คือ เทคโนโลยีด้านการเดินทางและการสื่อสาร ในสมัยเหล่ากง สื่อสารกันโดยจดหมาย เดินทางระหว่างประเทศคือการนั่งเรือสำเภา…โลกในสมัยนั้นเป็นโลกที่ห่างไกลกันมาก ต่างจากโลกสมัยนี้ ข้อมูล การติดต่อสื่อสาร ทำได้ทันทีหลักวินาที การเดินทางไปมาหากันเพียงหลักชั่วโมงหรืออย่างมากก็ 1 วัน โลกในปี 2021 ถูกย่อส่วนลงมากเมื่อเทียบกับปี 1921

ผมดีใจมากที่คิดมาถึงกรอบความคิดนี้ได้ ความลำบากใจที่จะต้องจากครอบครัวและทิ้งสิ่งต่างๆที่ผมได้สร้างไว้ที่เมืองไทย หายไป ประเทศอเมริกา เป็นประเทศที่เจริญ เป็นประเทศที่มีคนเก่งๆเยอะ เป็นประเทศที่มีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยระดับโลกหลายแห่ง ผมอยากจะมีส่วนร่วม เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ให้ครอบครัวผมมีโอกาสเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน และผมก็สามารถพาตัวผมเองและครอบครัวในอนาคตของผมเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ ทั้งๆที่ผมและครอบครัวยังอยู่ที่ประเทศไทย สิ่งที่ผมต้องทำก็คือการขยันเดินทาง ขยันหาความรู้ บอกกับตัวเองว่า เราจะไม่ทิ้งอเมริกา เราจะเดินทางมาเยี่ยมเยียมเพื่อนเก่าๆ หาทางสร้างเพื่อนใหม่ๆ มาดูงาน เข้าสัมนาวิชาการ มาหาความรู้ความคิดใหม่ๆในอเมริกา โดยอย่างน้อยต้องมา 1 ครั้งในทุกๆ 2 ปี ถ้าเพื่อนคนไหนแต่งงาน เราจะต้องไปร่วมงานแต่งงานของเขา ถ้ามีเพื่อนสมัยเรียนคนไหนทักเข้ามาหาว่าจะเดินทางมาเที่ยวไทยหรือครอบครัวเขาจะมาเมืองไทย ไม่ว่าเราจะยุ่งขนาดไหน เราสัญญากับตัวเองว่าเราจะไปต้อนรับเขา พาเขาไปทานข้าวและพาเขาเที่ยวสัก 1 วัน ผมว่าสิ่งเหล่านี้ ทำให้ผมยัง keep in touch มีเส้นบางๆเชื่อมผมอยู่กับประเทศอเมริกา เสมือนว่าผมก็พอจะได้อยู่ที่ประเทศอเมริกาสักเสี้ยวหนึ่ง เหมือนกัน

เดินทางมาร่วมงานแต่งงานเพื่อนที่ San Francisco, USA
เดินทาง 2 วัน ร่วมงาน 2 วัน พักอีก 1 วัน รวมเป็น 5 วัน กลับมาทำงานต่อ

ที่จริงผมยังมีเรื่องเล่าต่อ ว่าสาเหตุอะไรที่เมืองไทยน่าอยู่ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นประเทศชั้นนำในระดับเวทีโลก แต่เราก็ไม่ได้น่าเกลียดมาก ประเทศไทยยังมีหวัง แต่เราต้องช่วยกันพัฒนา สำหรับสิ่งดีๆที่ผมชอบของประเทศไทย และสิ่งที่ผมอยากจะเสนอว่าเราควรจะช่วยกันปรับปรุงกันอย่างไร ผมขอเก็บไว้เล่าในตอนที่ 2 นะครับ ตอนนี้เขียนมายาวพอสมควรแล้ว เกรงว่าคนอ่านจะเบื่อเสียก่อน สำหรับตอนนี้ขอฝากข้อคิดจากคำพูดของนักปรัชญา นักเขียนท่านนึงชาวสเปน/อเมริกัน ซึ่งกล่าวไว้ว่า

A man’s feet should be plated in his country, but his eyes should survey the world. — George Santayana

การมีประเทศและถิ่นที่อยู่ของตัวเอง เป็นพื้นฐานของความภูมิใจของคนในชาติ หรือแม้แต่เป็นพื้นฐานและเวทีที่เราจะสามารถสร้างความภูมิใจให้แก่เรา แก่ครอบครัว และแก่ชุมชนของเราได้ จะหาทางพัฒนาที่ๆเราอยู่ให้ดีขึ้นได้อย่างไร ในแบบฉบับของเราเอง โดยที่ไม่ต้องร้องขอให้คนอื่นช่วย แต่ละคนมีแรงและกำลังไม่เท่ากัน เราทำที่เราทำได้ แรงของเราก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้เท้าของเราฝังรากลึกลงในแผ่นดินใดๆให้มั่นคง เพราะที่นี่คือที่พักพิงของเรา ฐานมั่นคง แต่สายตาหรือวิสัยทัศน์อย่าหยุดแค่ในประเทศ เรามองและสำรวจได้อย่างไม่จำกัด มองไกลๆว่าโลกใบนี้มีโอกาสหรือสิ่งดีๆอะไรใหม่ๆให้เราสามารถสร้างประโยชน์ขึ้นได้บ้าง

สวัสดีครับ

Read More

เราขยันเรียนไปทำไม เพื่ออะไร?

“เรียนไปไร้ค่า ตายh’า ลืมหมด” นี่เป็นคำพูดที่ผมจำไม่ลืม คำพูดนี้คุณลุงของผมซึ่งเป็นคนที่มีฐานะพูดให้ผมฟัง ในระหว่างการรวมญาติรับประทานอาหาร ที่ภัตตาการ ไต๋ฮี่ เมื่อเสร็จจากเช็งเม้ง เคารพศพเหล่ากงเหล่าม่า ที่จังหวัดชลบุรี

บทสนทนานี้เกิดขึ้น ตอนผม อยู่ ม.1 เพิ่งจะเข้าวัยรุ่นได้ไม่ถึงปี ผมถือว่าเป็น ‘หลาน’ ในเจนเนอร์เรชั่น 3 ที่เรียนได้ดี ถ้าเปรียบเทียบกับหลานๆ คนอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับลูกๆของลุง ลุงผมคงจะเป็นสไตล์ ฮากูน่า มาทาท่า ตามฉบับ Lion King ปล่อยลูกๆเขาตามสบาย แต่กลับกัน พ่อแม่ผมให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียน แม่ไม่เท่าไหร่ แต่พ่อจะคอยถามตลอดว่าเกรดเป็นอย่างไร เหมือนว่าถ้าพ่อไม่รู้ว่าจะคุยอะไรกับพวกเรา คำหนึ่งที่จะออกจากปากพ่อเสมอคือ “ไปอ่านหนังสือ”

“เรียนไปทำไม ดูอย่างลุงสิ ไม่ได้สนใจเรียน เรื่องที่เรียนก็ไม่เห็นเคยได้ใช้ ปีทาโกรัส ไม่เคยใช้ ตรีโกณมิติ ไม่เคยใช้ สูตรเรขาคณิต ไม่เคยใช้” คำพูดของลุง ทำให้ผมสับสนระดับหนึ่ง สงสัยว่าสิ่งที่ตัวเองเรียนไปมันมีค่าใช่ไหม ถ้ามองตอนนั้น เมื่อ 25 ปีก่อน ทั้งลุงและลูกๆของลุงดูเหมือนว่าจะมีอะไรหรูๆใช้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นรถที่โก้กว่าใหม่กว่า ลูกพี่ลูกน้องผมที่ใส่เสื้อผ้าแฟชั่น Armani Giordano หรือรองเท้าหนัง Next ที่ดำเงา เท่าที่ผมจำได้เสื้อที่ผมใส่ ส่วนมากเป็นเสื้อยืดฟรี (ตอนนี้ก็ยังใส่เสื้อยืดฟรีอยู่…ฮา) ถ้าใส่ไปเดินห้างหน่อยจะใส่ยี่ห้อ Body Glove รองเท้าผ้าใบธรรมดา…ผมใช้เวลานานในการคิดถึงคำพูดของคุณลุง ว่ามันใช่ไหมหนอ “เรียนไปไร้ค่า ตายh’าลืมหมด”

คำถามนี้ ผมใช้เวลาตอบเกือบ 15 ปี จนวันที่ผมจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Stanford แล้วได้เริ่มต้นทำงานตอบแทนทุนรัฐบาลที่ส่งเสียผมเรียน ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมจึงได้คำตอบ ว่าจริงๆแล้ว ไม่ใช่ สิ่งที่ลุงพูด ไม่ถูก ผมอยากจะเขียนบทความนี้แชร์ว่า หลายๆคนมีความคิดว่า เรียนไปทำไม ยังไงก็ไม่ได้ใช้ในชีวิตจริงอยู่แล้ว คนที่เรียนไม่เก่ง หรือไม่ได้เรียนอย่างคุณตัน ยังประสบความสำเร็จได้ คำพูดเหล่านี้มันมีจุดบอด สิ่งที่คนมองข้ามตรงไหน เผื่อว่าจะได้เป็นแง่คิดใหม่ ปรับให้กับลูกๆหลานๆของท่าน หรือว่าถ้าน้องๆคนไหนที่ได้มาเจอบทความนี้ ก็จะขอเป็นกำลังใจให้ในการเรียนพากเพียรต่อไปครับ

ถ่ายรูปกับอดีตนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร และเพื่อนนักเรียนทุนรัฐบาลไทย ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ในระดับปริญญาตรี-โท-เอก
จบการศึกษา รับปริญญา 2 ใบ ในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท จาก Stanford University มหาวิทยาลัย Top Five ของโลก ซึ่ง เป็นศูนย์กลาง หัวใจของ Silicon Valley บริเวณที่ สร้างบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก เช่น Hewlett Packard, Google, Facebook, Tesla, eBay, Airbnb

หลังจากที่ได้เรียนและจบการศึกษาด้าน Computer Science (วิทยาการคอมพิวเตอร์) จาก Stanford ผมมีโอกาสเข้ามามากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอให้เข้าทำงานกับบริษัท Microsoft, Apple, Google, Facebook, หรือหลายๆ Startups ใน San Francisco แต่เนื่องด้วยคำสัญญาที่ให้ไว้กับรัฐบาลไทย ว่าต้องกลับมารับใช้ประเทศ เอาความรู้ที่ได้เรียน กลับไปสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย สัญญาก็ต้องเป็นสัญญาครับ ปิดประตูการทำงานที่อเมริกา บินกลับมาเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ประเทศไทย หลังจากที่จากไปเกือบ 6 ปี

ทำงานที่จุฬาลงกรณ์ ในตำแหน่งอาจารย์ คำว่าอาจารย์ หลายๆคนคงจะคิดถึงว่า คือผู้สอนหน้าชั้นเรียน แต่จริงๆแล้ว นอกเหนือจากสวมหมวกผู้สอน ยังมีบทบาทอีกมาก (สอนหน้าชั้นใช้เวลาจริงๆเพียง 30% เท่านั้นครับ) บทบาทอื่นๆ ดังเช่นหมวกนักเขียน หมวกนักวิจัย หมวกผู้บริหารหลักสูตร ผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ หมวกอาจารย์ที่ปรึกษา วิทยากรและที่ปรึกษาในหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน หรือว่าภาครัฐ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ตอนนี้ทำงานเข้าปีที่ 13 แล้ว ยังมีงานใหม่ๆมาให้ทำเรื่อยๆ ไม่เบื่อเลย

แล้วจริงหรือปล่าว ‘เรียนไปไร้ค่า ตายh’าลืมหมด’ …จะว่าไปแล้ว บางเรื่องก็ไม่ได้ใช้จริงๆ แคลคูลัส ตรีโกณมิติ ฟิสิกส์ F=ma เคมี การคำนวณโมล ชีววิทยา ไฟลัมป์ แต่บางเรื่องก็ต้องใช้ทุกๆวัน เช่นภาษาอังกฤษ บางเรื่องยังเสียใจไม่ได้เรียนไว้แต่เนิ่นๆ เช่นภาษาจีน 汉语 จนไม่นานมานี้เอง ผมได้ข้อสรุปว่า ไม่ใช่ เรียนไปไม่ได้ไร้ค่า วันนี้โตพอที่จะวิเคราะห์เองได้ ต่างจากตอนอายุ 13 ขวบ ผมยิ้ม และบอกกับตัวเองว่า ผมไม่เห็นด้วยกับความคิดและคำพูดของลุงผมเลย

คุณครูมิเชล ขณะสอนภาษาจีนพื้นฐานให้น้องจากสาธิตรามคำแหง อายุ 6 ขวบครึ่ง ในหมู่บ้านพฤกษาวิวล์ พัฒนาการ ใช้เวลาว่างจากการเล่นสนามในหมู่บ้าน 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ปูพื้นฐานภาษาจีน

ใช่ บางเรื่องที่เราเรียนในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นระดับมัธยมต้น หรือมัธยมปลาย เราอาจจะไม่ได้ใช้ในอนาคต แต่ประเด็นการเรียนสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ว่าเราจะได้ใช้มันในอนาคตหรือปล่าว แต่สิ่งที่เป็นประเด็นคือ…โอกาสในการศึกษาต่อ โอกาสในอนาคตของแต่ละคน เด็กที่เรียนแผนวิทย์ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ใช้ฟิสิกส์ ตอนเขาอายุ 30 ปี แต่ตอนที่เขาเรียนแผนวิทย์ เขาได้เพิ่มโอกาสในการเรียนต่อในระดับมหาลัยของเขากว่าเด็กที่เรียนแผนศิลป์ หรือไม่ได้เรียนเลยหลายเท่าตัว

เด็กที่เรียนแผนวิทย์ มีโอกาสที่จะเอนทรานซ์ ศึกษาต่อในสาขาวิชา แพทย์ สาธารณสุข วิศวะ วิทยาศาสตร์ สถาปัตย์ คอมพิวเตอร์ ซึ่งเด็กแผนศิลป์ถูกปิดโอกาสนั้นเลยตั้งแต่พวกเขาเลือกแผนศิลป์ ตั้งแต่ อายุ 15 ปี โอกาสของเด็กแผนวิทย์จะมากกว่าเด็กแผนศิลป์คำนวณ และโอกาสของเด็กแผนศิลป์คำนวณก็จะมากกว่าโอกาสของเด็กแผนศิลป์ภาษาตามลำดับ เพราะถ้าเด็กแผนวิทย์ตัดสินใจอยากจะเรียนเกี่ยวกับด้านบริหารธุรกิจ ดังเช่นคณะที่ผมสอนอยู่ ช่วงโค้งสุดท้าย เขาก็ยังสามารถเตรียมตัว สมัครสอบเข้าแข่งขันได้ แต่สำหรับเด็กแผนศิลป์คำนวณ หรือศิลป์-ภาษา ถ้าอยากจะเรียนหมอ หรือวิศวะ เขาแทบไม่มีโอกาสเลย นอกจากหาทางกวดวิชา เรียนเนื้อหาแผนวิทย์ต่างๆที่เพื่อนในรุ่นเดียวกัน ได้เรียนมาก่อนแล้ว 3 ปี1

ผมมีวันนี้ได้ เพราะผมตั้งใจเรียน จริงๆแล้วผมไม่ใช่เด็กที่เรียนเก่ง (การตั้งใจเรียนกับการเรียนเก่ง เป็นคนละเรื่องกัน) การตั้งใจเรียนเปิดโอกาสให้ผมมากมาย โอกาสไปสอบชิงทุน โอกาสที่จะได้เรียนต่อต่างประเทศตั้งแต่ระดับปริญญาตรี โอกาสที่ได้เจอเพื่อนเก่งๆ ผู้คนเก่งๆจากทั่วโลกในรั้วมหาวิทยาลัย Stanford เปิดโลกทัศน์เล็กๆของผม ซึ่งอยู่ในกรุงเทพมาตลอด 18 ปี ได้พูดคุย เรียนรู้จากเพื่อนที่มาจากหลายเชื้อชาติ หลากวัฒนธรรม โลกใบนี้ช่างกว้างใหญ่เหลือเกิน ทำให้รู้ว่าประเทศไทย โลกที่ผมรู้จักเล็กนิดเดียวเอง

ผมและเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัย James Michel ซึ่งตอนนี้เป็นผู้บริหารระดับสูงที่บริษัท Facebook Inc.

เรื่องการทำงาน ผมมีวันนี้ได้ก็เพราะตั้งใจเรียน มันสร้างและเปิดโอกาสให้ผมมาก ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการได้มาเป็นอาจารย์ที่บัญชี จุฬา พออยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ยิ่งเป็นประตูบานใหญ่เปิดให้รู้จักใครหลายๆคนที่น่าสนใจ ทั้งศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จ อย่างพี่เฉลิมพล ปุณโณทก ผู้ก่อตั้งบริษัทหุ่นยนต์ดินสอ บริษัทหุ่นยนต์แรกของไทย ที่สามารถส่งออกไปขายต่างประเทศทั้งในยุโรป หรือญี่ปุ่นได้ อาจารย์รุ่นพี่ ที่มีความรู้ความสามารถ ดังเช่นท่านคณบดีในปัจจุบัน รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ที่คอยแนะนำ เปิดมุมมองให้ผมในหลายๆด้าน โอกาสได้พบปะ พูดคุย เป็นที่ปรึกษาให้บริษัท และหน่วยงานรัฐที่ได้เข้ามาร่วมงานกับทางคณะและหลักสูตร CUTIP ที่ผมดูแลอยู่ เช่น ปตท ปูนซีเมนต์ไทย ธนาคารกสิกร กรุงเทพประกันภัย โรงพยาบาลกรุงเทพ ฯลฯ โอกาสได้รู้จักกับผู้ประกอบการท้องถิ่นจากการไปบรรยายที่ เชียงใหม่ พิษณุโลก สุโขทัย ขอนแก่น สกลนคร หรือ โอกาสที่ได้สร้างความสัมพันธ์กับอาจารย์และผู้ประกอบการในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลย์เซีย เยอรมัน สวิซเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา

สุดท้ายอยากจะบอกทุกๆคนอีกครั้งนะครับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองที่กำลังเลี้ยงลูกๆ และไม่รู้ว่าจะตอบลูกว่าอย่างไร เวลาเขาถาม ‘เรียนพวกนี้ไปทำไม ได้ใช้เมื่อไหร่’ หรือน้องๆที่กำลังเรียนรู้ และสงสัยว่าเราเรียนหนังสือไปทำไม เราเรียนเพื่อเปิดโอกาสให้อนาคตของเราให้มากที่สุดครับ

จากคำพูดว่า เรียนไปไร้ค่า ตายh’าลืมหมด ผมขอเปลี่ยนเป็น

เรียนไปมีค่า คุ้มเวลาสุดๆ

Happy Learning & Studying ครับ ทุกๆคน

1 บทความนี้ที่ผมเขียนขึ้น ใช่ว่าผมเห็นด้วยกับ ‘ระบบ’ การศึกษาที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ที่ตัดโอกาสเด็กๆตั้งแต่ตอนที่เขาเลือกแผนตอน ม.4 หรือ ไม่ได้มองข้ามอาชีพทางเลือกใหม่ๆ ที่ ยังไม่มีในรั้วของโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย อาชีพเฉพาะด้าน ซึ่งก็น่าตื่นเต้น ดังเช่น Youtuber / Podcaster / E-Sport Players

ปล สำหรับคนที่ไขว่ขว้า รู้ว่าเลือกทางที่ตัดโอกาสตัวเองในอดีต ที่จริงก็มีโอกาสในการเรียนรู้เพิ่มโอกาสอยู่ ในยุคของโลกดิจิตัล คุณเรียนรู้เพิ่มเติมได้ตลอดเวลาในสาขาอาชีพใหม่ๆ สำหรับ course online ที่ผมเคยซื้อและได้เรียน ผมขอแนะนำ Coursera, Udemy, และ Team Tree House นะครับ

Updated (21/04/2021)

หลังจากที่ผมได้เขียนและเผยแพร่บทความนี้ไป มีเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เขียนเสนอเพิ่มเติมในมุมมองของเขาว่า พวกเขาเรียนไปเพื่ออะไร ผมอ่านแล้วเลยขอหยิบยืมไอเดียดีๆเหล่านั้น มาเผยแพร่ไว้ ณ ตรงนี้ด้วยครับ

  • ผศ.ดร.เต๋า นักเรียนทุนรุ่นเดียวกับผม ตัวแทนประเทศไทยไปแข่งเคมีโอลิมปิกระดับนานาชาติ ในปี 2544 และได้รับรางวัลเหรียญทองกลับมา เรียน ป ตรี ที่ Harvard ป โท-เอก ที่ ​MIT ต่อทำวิจัยหลังเรียน ป เอก ที่ Cambridge ประเทศอังกฤษ บอกว่า มองย้อนไป การตั้งใจเรียน เรียนเยอะๆเพื่อให้ชินกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอๆ ซึ่งก็ตรงกับ คุณหมอโบว์ แพทย์จุฬา ผันตัวชอบเรียนด้านการเงิน ไปเรียนต่อด้าน MS Finance ที่คณะบัญชี จุฬา และไปจบ MBA ที่ Harvard Business School..ก็บอกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการ Learn how to learn..เรียนรู้ เพื่อที่จะรู้ว่าการเรียนรู้ต่อๆไป ‘ด้วยตัวเอง’ จะต้องทำอย่างไร
  • พี่เอ๋ หรือคุณครูเอ๋ วิศกรที่หัวใจเปี่ยมด้วยความให้ ผันตัวมาช่วยสอนหนังสือให้เด็กๆที่อาจจะมีโอกาสไม่มาก ที่ปากช่อง บอกว่า การเรียนทำให้เขาได้เจอกลุ่มเพื่อนดีๆ ที่สนใจการเรียนด้วยกัน ชีวิตเขาคงจะต่างจากวันนี้มาก ถ้าเขาไม่ได้มีโอกาสเจอเพื่อนดีๆกลุ่มนี้ ผมเห็นด้วยอย่างมากครับ…เรื่องการเลือกคบใคร คงจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะเขียนมาแชร์กันในครั้งหน้าครับ..ขอบคุณมากครับพี่เอ๋ ที่แนะนำประเด็นนี้

Read More

แนวคิดจาก ชาร์ลี มังเกอร์ (Wisdoms from Charlie Munger)

วิดิโอสัมภาษณ์ ของคุณปู่ ชาร์ลี มังเกอร์ ในปี 2017 (พ.ศ. 2560)

ในช่วงตั้งแต่ต้นปี ที่ห่างหายไปจากการเขียนโพสครั้งสุดท้าย นอกเหนือจากความรับผิดชอบ ที่มหาวิทยาลัย ผมได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการอ่านหนังสือ และบทความต่างๆ อาจจะแบ่งเป็น 2 เรื่องหลักๆ ได้​ ซึ่งก็คือ ความรู้ด้านการลงทุนในตลาดหุ้น (โดยเฉพาะตลาดหุ้นเวียดนาม) และ แนวคิดเรื่องหลักการคิด กระบวนการความคิดต่างๆ (Mental Model)

สำหรับโพสนี้ ผมขอเขียนเบื้องต้นสำหรับ เรื่องที่ 2 แนวคิดเรื่องกระบวนการความคิด เพื่อให้ใช้ชีวิตที่ดี มีความสุข และประสบความสำเร็จ หนึ่งในนักธุรกิจที่ผมศึกษาค้นคว้า และอ่านงานเขียนของเขามากขึ้น ก็คือคุณปู่ ชาร์ลี มังเกอร์ (Charlie Munger) คนๆนี้ อาจจะไม่เป็นที่รู้จักในสังคมไทยนัก อาจจะเป็นเพราะ เขาเป็นพระรอง ของพระเอกที่ยิ่งใหญ่ของโลก พระเอกคนนั้นก็คือ คุณปู่ วอเร็น บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) นักลงทุนหุ้นคุณค่า (Value Investor) ในตำนาน ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ คุณปู่มังเกอร์ เป็นเสมือน มือขวา เพื่อนคู่คิด คุณปู่บัฟเฟตต์ มาในหลายทศวรรต ตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงปัจจุบัน

ผมพยายามศึกษา แนวความคิด ของคุณปู่มังเกอร์ จากบทสัมภาษณ์ จากงานเขียน ต่างๆที่มีอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต อยากจะเริ่มต้น จากบทสัมภาษณ์ที่ทาง Ross Business School – มหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้สัมภาษณ์คุณปู่ไว้เมื่อปี 2017 ซึ่งตอนนั้นคุณปู่ ก็อายุ 93 ปี แล้ว บทสัมภาษณ์นี้ ยาวประมาณ​ 1 ชั่วโมง แต่ผมฟังจริงๆ อาจจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง เพราะเปิดฟัง แล้วก็ต้องคอยกดหยุด เพื่อคิด หรือว่ากรอฟังซ้ำใหม่ บางคำ ผมก็ฟังไม่เข้าใจ บางคำช่างลึกซึ้ง จนผมอยากจะฟังอีกรอบ อย่างไร ลองเข้าไปฟังได้นะครับ ตามลิ้งค์ของ Youtube ด้านบน สำหรับตัวผม ฟังแล้ว จับใจความและประเด็นสำคัญที่ได้เป็นข้อคิดของวิดิโอ ในประเด็นต่างๆ ตามนี้

  • คุณปู่มังเกอร์ มีบุคคลที่เขาสรรเสริญ และชื่นชม คือ Benjamin Franklin หนึ่งในแปด ผู้ร่วมร่างธรรมนูญ (Declaration of Independence and U.S. Constitution) ซึ่งเสมือนว่าจะเป็น ประธานาธิบดีของสหรัฐ แต่แท้จริงแล้วไม่เคยได้รับเลือกตั้ง (wow..ผมก็เพิ่งรู้นะครับเนี่ย!) อ่านมาถึงตรงนี้ ผมเลยอยากจะอ่านประวัติของ Benjamin Franklin เลย ว่าชีวิตเขาเป็นอย่างไร (เขาได้เขียนชีวประวัติของตนเอง อยู่ในหนังสือชื่อ Poor Richard’s Almanack นามแฝงของ Ben Franklin คือ Richard) คุณปู่มังเกอร์ น่าจะชอบเขามาก ถึงขนาด หนังสือของคุณปู่ที่เขียนขึ้น เขาก็ตั้งชื่อหนังสือให้คล้ายๆกันของ Ben Franklin โดยใช้ชื่อว่า Poor Charlie’s Almanack. ต้องบอกว่า 2 เล่มนี้ อยู่ในรายชื่อหนังสือ ที่ผมต้องหาซื้อและหาเวลามานั่งอ่าน เรียนรู้จาก 2 นักคิดระดับโลกจริงๆ
  • คุณปู่มังเกอร์ เกิดในปี 1927 (พ.ศ. 2467) ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ประเทศอเมริกาจะเข้าสู่ยุค เศรษฐกิจตกต่ำที่สุด ซึ่งเกิดในช่วงปี 1930 และกินเวลานานกว่า 4 ปี คุณปู่บอกว่า เขาจำได้ว่า เวลาเศรษฐกิจตกต่ำลักษณะนั้น มันรู้สึกอย่างไร มันแย่ขนาดไหน ในยุค Covid-19 นี้ เราคงจะเห็นว่าเศรษฐกิจก็ตกต่ำ คนตกงานเช่นกัน แต่ในยุคเมื่อ 90 ปีที่แล้ว มันแย่กว่ากันมาก ใน ตอนนั้น แม้แต่คนรวยก็ไม่มีเงิน ทุกคนต้องมาขอทาน ขออาหารทานให้รอดกันไปในแต่ละวัน อาจจะเป็นเพราะประสบการณ์อันนี้นี่เอง ที่ทำให้การลงทุนที่ผ่านมาคุณปู่คงจะรู้สึกชิว สบายๆ ไม่ว่าสถานการณ์ไหน เขาก็มั่นใจว่า เศรษฐกิจ และประเทศ USA ยังไงก็ต้องผ่านพ้นไปได้ Black Monday ปี 1987 หรอ สบายๆ Subprime ปี 2008 หรอ จิ๊บๆ หรือว่า Covid-19 ปี 2020 หรอ โถ่ ขี้ผง ความมั่นคงในอารมณ์และหลักแนวคิดที่ชัดเจนนี่เอง คงจะเป็นสาเหตุให้การลงทุนของเขาประสบความสำเร็จอย่างมาก ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา –> ก่อนจะจบเรื่อง Great Depression นี้ คุณปู่มังเกอร์ ทิ้งท้ายไว้ ซึ่งเป็นอะไรที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน คุณปู่บอกว่า แล้วประเทศออกจาก Great Depression ได้อย่างไร เออ มันก็น่าสนใจนะ สำหรับสถานการณ์ที่ทุกๆคนไม่มีเงิน ไม่มีงาน แล้วสุดท้าย กลายเป็นมีเงิน มีงาน แล้วทำให้ประเทศอเมริกา ออกจากภาวะซบเซาได้อย่างไร เฉลย คน/สิ่งที่ช่วยประเทศไว้ (แบบไม่ตั้งใจ) คือ คุณฮิตเลอร์ (Hitler) ห้ะ?! ใช่ครับ อ่านไม่ผิด คุณ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ชาวเยอรมัน ผู้ริเริ่มก่อสงครามกับโลก คนที่เริ่มต้น สงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามนี้เอง ทำให้ปัจจัยการผลิตต้องหมุนเร็วขึ้นอีกครั้ง มีงานเกิดขึ้นอีกครั้ง ตามหลักเศรษฐศาสตร์ Keynesian Economics เศรษฐศาสตร์ แนวใหม่ของ John Maynard Keynes
  • คุณปู่มังเกอร์ มีแนวคิดในการแก้ปัญหา แบบ Invert Thinking (การคิดแบบตรงกันข้าม) เขาบอกว่า ในหลายๆครั้ง การแก้ไขปัญหา โดยการคิดแบบตรงกันข้าม ช่วยให้หาคำตอบได้มากกว่า เช่น ถ้าเราอยากจะหาทางพัฒนาประเทศไทย ให้ดีขึ้น เราจะทำอย่างไร คงจะมีหลากหลายคำตอบมากๆ ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากสิ่งไหนก่อน ในการคิดแบบตรงกันข้าม จะเริ่มต้นว่า ถ้าเราอยากจะ ‘ทำลาย’ ประเทศไทย ให้มากที่สุด เราจะต้องทำอย่างไร ไม่ต้องให้การศึกษาเด็กๆ หรือคนรุ่นใหม่ ยกย่องคนอันธพาล ปล่อยให้อันธพาลครองเมือง ลองคิดดูได้นะครับ อะไรที่คุณคิดว่าทำแล้ว มันจะเลวร้ายที่สุดสำหรับประเทศไทย พอเรารู้ว่าอะไรที่เลวร้ายสุดๆแล้ว เราก็หาทางป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นให้ถึงที่สุด ลักษณะนี้ คือการคิดแบบ Invert Thinking ที่คุณปู่มังเกอร์ ใช้เสมอมา
  • คุณปู่เก่งคณิตศาสตร์ และเลือกเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ตอนเข้ามหาวิทยาลัย สาเหตุที่เขาเลือกเรียนคณิตศาสตร์ในรั้วมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เพราะเขา in love อยากจะรู้อะไรเกี่ยวกับคณิตศาสตร์มากขึ้น แต่เป็นเพราะ สาขานี้ทำให้เขามีเวลามากขึ้น ในการคิดว่าเขาอยากจะทำอะไรจริงๆ มากกว่า ไม่ต้องไปฟังอาจารย์ว่าจะต้องทำการบ้านอะไร… (20.28)

I was choosing what for me was the easiest way to think about what I want to do instead of what somebody else wants me to do”

  • (เพิ่มเติม สำหรับประเด็นคณิตศาสตร์) คณิตศาสตร์ที่คุณปู่ใช้ ใช้เฉพาะพื้นฐาน บวก ลบ คูณ หาร เศษส่วน สมการ สถิติ แต่ที่เขาไม่ได้ใช้เลยตั้งแต่อายุ 19 คือคณิตศาสตร์ด้านแคลคูลัส คำพูดนี้น่าสนใจ ผมคิดว่าประเทศไทย ถ้าสามารถเปลี่ยนหลักสูตรคณิตศาสตร์ได้ ควรจะตัดแคลคูลัส ออกจากหลักสูตร มัธยมปลายไปเลย แล้วสอนในส่วนของสถิติเพิ่มเติม ไม่ใช่แค่บอกว่าคำจำกัดความของสถิติ ค่ากลาง มัธยฐาน ฐานนิยม ค่า Z คืออะไร แต่ควรจะสอนว่า จะตีความข่าวต่างๆในมุมมองของสถิติได้อย่างไรบ้าง คนไทยอาจจะเริ่มเข้าใจมากขึ้น ว่าควรจะเลิกหมกมุ่นกับการเล่นหวย ซื้อล็อตเตอรรี่ กราบไหว้วัตถุต่างๆ แล้วหันมาอ่านหนังสือ เก็บหอมรอมริบ ตั้งใจทำงาน สร้างคุณค่าให้ตัวเอง และคนรอบข้าง ให้มากขึ้น
  • ผมชอบอารมณ์ขันของคุณปู่มากครับ ชอบเล่นมุขหน้าตาย ณ นาที 21.54 “I should have gone to the Naval ROTC because I hated the Infantry ROTC which I’d done for 4 years of service since high school, rising to be second lieutenant..which is a very low rank” << ฮาอะ ผมชอบ
  • เราไม่สามารถสอนสุนัขใหม่ ให้เรียนรู้เทคนิคเก่าได้ (cannot teach the new dogs an old trick) — เขาเลือกคนที่มีประสบการณ์ที่ทำงานเป็นอยู่แล้ว ให้มาช่วยงานที่บริษัท แทนที่จะหาคนรุ่นใหม่ เข้ามาบริหาร คนรุ่นใหม่ อายุน้อย (new dogs) คนมีประสบการณ์ อายุเยอะ (old n wise dogs)
  • พูดถึงแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ และปรัชญาของโลก Adam Smith ชาวสก็อตแลนด์ ผู้เขียนหนังสือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คลาสสิก ชื่อ The Wealth of Nations (ความมั่งคั่งของประเทศ) ว่าทฤษฎีที่ Adam Smith เสนอมาพูดได้ครอบคลุม เศรษฐศาสตร์ต่างๆ แต่ที่ Adam Smith มองพลาดไป คือการเติบโตและพัฒนาการของเทคโนโลยี แต่ก็คงจะว่าไม่ได้หรอก Adam Smithเ เขาเกิด ในปี 1727 (พ.ศ. 2270) เขาจะคิดออกได้อย่างไร ว่าโลกเรามันจะวิวัฒนาการได้มากถึงขนาดนี้ ในด้านเทคโนโลยี
  • David Ricardo และทฤษฎี การค้าขายแลกเปลี่ยนแบบเสรี (Free Trade) สิ่งที่ David Ricardo คิดได้ถูก (First Order Thinking) และสิ่งที่เขาพลาดไป (Second Order Thinking) ซึ่งจะทำให้ประเทศจีน เติบโต ยิ่งใหญ่ ทัดเทียมประเทศอเมริกา ในที่สุด และสุดท้ายความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจนี้ คงจะหนีไม่พ้นความสัมพันธ์เชิงการเป็นมิตร แบบบังคับ เพราะนั่นน่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ดีที่สุดสำหรับ 2 ประเทศ และสำหรับโลกนี้แล้ว

ก่อนจะจบ ผู้สัมภาษณ์ถามคุณปู่มังเกอร์ว่า จะฝากคำแนะนำอะไรไว้ให้กับคนรุ่นหลังอะไรบ้าง คุณปู่มังเกอร์ฝากไว้ 3 สิ่งดังนี้ครับ

  1. การตัดสินใจที่สำคัญที่สุดในชีวิตของทุกๆคน คือการตัดสินใจว่าจะแต่งงานกับใคร (บทความ: คุณจะแต่งงานกับคนที่ผิดไหม) …”It will do more for you good or bad than anything else” คุณปู่มังเกอร์เพิ่มเติม แนวคิดเกี่ยวกับการแต่งงาน จากคำพูดของ Benjamin Franklin ว่า “Keep your eyes wide open before marriage and half shut thereafter”…”เปิดตาให้กว้างๆก่อนที่คุณจะแต่งงาน แล้วหลังจากนั้นลืมตาข้างเดียวพอ”..ฮาอีกแล้วคุณปู่ 🙂
  2. อีกอย่างที่คุณปูฝากไว้ก็คือ ไม่ต้องหวังสูงว่าต้องเป็นมหาเศรษฐีของโลก หรือประธานาธิบดีของประเทศ (หรือ นายกฯ สำหรับประเทศไทย) แต้มต่อของสิ่งเหล่านั้นมันช่างน้อยนิดเกินไป…เหมือนตั้งเป้าว่า ชีวิตนี้จะต้องถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1ให้ได้ (โอกาส 1 ในล้าน) — โอกาสจะเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยคือ 1 ใน 70 ล้าน สิ่งที่เราควรมอง ควรหวังคือ ขอเพียงแต่ ตื่นขึ้นมา ทุกๆวัน ตั้งใจทำงาน ขยันขันแข็ง ทำในสิ่งที่ถูก ก็พอ อย่าประเมินค่าสิ่งธรรมดาเหล่านี้ต่ำเกินไป​ (อย่า underestimate สิ่งธรรมดาเหล่านี้) เพราะเขาพิสูจน์ให้กับชีวิตตัวเองแล้ว ว่า มันทำให้ชีวิตเขาดีได้จริงๆ (overshot and become a billionaire!)
  3. สุดท้าย โชคชะตา ก็เป็นเรื่องสำคัญ บางคนไม่ได้มีอะไรเลย แต่อยู่ถูกที่ ถูกเวลา เขาก็สามารถจะได้รับผลประโยชน์ ได้สิ่งดีๆ จากการที่เรือของพวกเขา อยู่ในทะเล ที่น้ำขึ้นเรื่อยๆ ได้เช่นกัน (สาเหตุหลักที่ผมเริ่มศึกษา การลงทุนในตลาดเวียดนาม ครับ)

ขอขอบคุณคุณปู่ชาร์ลี มังเกอร์ (Charlie Munger) ที่สละเวลา มาให้สัมภาษณ์ ยินยอมให้เผยแพร่วิดิโอนี้ ทำให้ผมได้เรียนรู้ชีวิตของคุณปู่ และจะหาทางเอาปัญญา Wisdom สิ่งดีๆ มาปรับใช้ในชีวิตของผมและสังคมรอบๆข้างผมต่อๆไปครับ

Read More

ข้อคิดจากหนังเรื่อง ฉลาด เกมส์ โกง

เมื่อวานนี้ ผมมีโอกาสได้ดูหนังเรื่อง ฉลาด เกมส์ โกง หลายๆคนคงจะ อุทานว่า “อุ๊ตะ” เพิ่งจะได้หรอคะ/ครับ…555 ใช่ครับ ผมเพิ่งจะได้ดู ส่วนมากไม่ได้ดูหนังเท่าไหร่ครับ ที่เลือกหนังเรื่องนี้มา เพราะได้ยินว่าเป็นหนังที่ได้รับความนิยม ทั้งในประเทศไทย และยังดังไกลไปในต่างประเทศในหลายๆประเทศ พอได้ดูแล้ว ก็พอจะนึกภาพย้อนหลังตัวเองไปในสมัยมัธยมได้ ว่าปรากฎการณ์พอจะมีบ้าง เรื่องการลอกข้อสอบ ขอลอกข้อสอบ ตอนสมัยช่วงมัธยมปลาย แต่ก็ได้ข้อคิดว่า 20 ปีที่ผ่านมา การศึกษาของเราพัฒนามาถึงไหน และอะไรยังเหมือนเดิมบ้าง

สมัยมัธยมปลาย ผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน เรียนที่นี่ตั้งแต่ ม.1 ถึง ม.6 ครับ ตอนช่วง ม.1-ม.3 ก็เรียนได้อยู่ระดับดีครับ แต่ไม่ได้ถึงขนาด top 5% ของห้อง แต่พอขึ้นระดับ ม.ปลาย แล้ว เพื่อนๆเก่งๆ ปรากฎว่าเขาย้ายไปโรงเรียน เตรียมอุดมศึกษา กันหมด เลยกันอยู่ไม่กี่คน ผมเด็กเรียนระดับกลางๆ ก็เลยได้มีโอกาสเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาอยู่ในระดับต้นๆของห้องครับ ..ก็แปลกดีครับ พอตัวเองได้มาอยู่ในตำแหน่งต้นๆของห้อง กลับกลายเป็นเรื่องดี ส่งผลต่อจิตวิทยาของผม ในช่วงนั้น ส่วนนี้เดี๋ยวคงจะหาเวลามาเขียนเล่าในภายหลัง ว่ามันเกิดอะไรขึ้นครับ

ในช่วง ม ปลาย เท่าทีจำได้ ก็พอจะมีการลอกข้อสอบ/ขอแอบดู ข้อสอบอยู่ครับ ส่วนตัวผมขอบอกก่อนเลย เคยต้องใช้วิธีลอก หรือขอความช่วยเหลือเพียงวิชาเดียวครับ คือวิชาเลือก ภาษาจีน (中文) ตอนนั้นมันไม่ไหวจริงๆ ไม่เห็นความสำคัญของภาษาจีนเลย ช่วงปี พ.ศ. 2542-2543 ตอนนั้นไม่รู้เรียนไปทำไม เอ็นทรานซ์ก็ไม่ต้อง ภาษาจีนก็ดูเหมือนจะไม่ได้ใช้ จะใช้ได้ก็คือคุยกับอากงคุณตา และก็อาม่า ผมเท่านั้น กำลังใจไม่เกิด สุดท้ายต้องหาทางเอาตัวรอดโดยทางนี้ครับ คงจะต้องขอบอกคุณครู 老师。。抱歉 ขอโทษอย่างมากครับ …

สำหรับวิชาอื่น ขอกระแอมเล็กน้อย เวลาสอบ ผมจะเป็นที่หมายตาของเพื่อนๆอย่างมาก เพราะพวกเขารู้ว่า ผมเรียนเก่ง ทำข้อสอบได้แน่นอน ก็จะมาขอนั่งข้างๆ บอกให้ผมเปิดๆหน่อยครับ ตอนนั้นผมก็ไม่ได้พูดอะไร คือ ก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ ส่งกระดาษ ส่งยางลบจดคำตอบให้เพื่อน แต่ก็ไม่ถึงกับเอาแขน เอาศอกมาปิด ไม่ให้เพื่อนดูนะ แบบเราไม่ได้ช่วยอย่างโจ่งแจ้ง แค่ทำข้อสอบตามธรรมชาติของเราไป

แต่พอมาดูในหนังสิ่งที่มันแตกต่างคือ การเสนอ ค่าตอบแทน ให้จากเพื่อน อันนี้เมื่อ 20 ปีก่อน ไม่มีจริงๆครับ ให้ 3000 บาท ต่อคน ต่อวิชา โอ้โห..คนที่ ‘ช่วย’ เพื่อน ในลักษณะนี้ สามารถหาเงินได้เป็นแสนๆ เลยหรือ กลับมาคิดกับตัวเองว่า ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว เราจะช่วยเขาโกงข้อสอบเพื่อแลกมากับเงินก้อนโตอย่างนี้ไหม มันน่าคิดจริงๆครับ

การเสนอเงินค่าตอบแทนให้กับคนที่ทำข้อสอบได้ ในสมัยผมยังไม่มี มันทำให้ผมคิดว่า เอ๊ะ ทำไมนะ ความคิดนี้ไม่เคยอยู่ในหัวผมเลย และผมก็คิดว่า มันก็คงไม่อยู่ในหัวของเพื่อนๆร่วมชั้นของผมด้วย ไม่ว่าเขาจะอยู่ในฐานะทางสังคมระดับใดก็ตาม แต่ที่เกิดขึ้นได้ในสมัยนี้ (ถึงแม้ว่าจะเป็นหนังก็เถอะ แต่ผมคิดว่าก็น่าจะมีความเป็นไปได้ ที่มีลักษณะนี้) คงจะเป็นเพราะ คนในประเทศไทยบางส่วนมีความร่ำรวย และมั่งคั่งขึ้นมาก เมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อน จึงสามารถให้รางวัล และ support ลูกหลานได้เยอะ ถึงขนาดนี้ ผมจำได้สมัยผม ผมได้เงินค่าขนมที่คุณพ่อให้ผม อยู่ที่สัปดาห์ละ 500-1000 บาท คุณพ่อจะให้ในวันจันทร์ ของแต่ละอาทิตย์ ผมมีหน้าที่ไปจัดสรรเอง จะทานอะไร จะเดินทางไปไหน ต้องให้อยู่ในงบประมาณในส่วนนี้ เดี๋ยวผมจะไปสืบดูว่า เด็กสมัยนี้ ได้เงินค่าขนมวันละเท่าไหร่ หรือสัปดาห์ละเท่าไหร่นะครับ

ประเด็นที่ 2 ที่อยากจะสะท้อนถึง ในหนังมีตัวละครเอกคนหนึ่ง เป็นเด็กผู้ชาย ชื่อ แบ้งค์ ที่มีความสามารถ เรียนเก่งระดับต้นของชั้น แต่ว่าพื้นฐานอาจจะไม่ดีนัก อยู่กับแม่เพียงสองคน และยังต้องช่วยเหลือแม่ในการทำงานบ้าน ซักผ้า รีดผ้า ทำความสะอาด นอกเหนือจากการเรียนอีก ในภาพยนตร์แสดงให้เห็นว่าแบ้งค์เป็นเด็กที่เรียนดี และต้องไขว่ขว้าหาโอกาสให้ตัวเอง เพื่อถีบตัวเองให้สูงขึ้นให้ได้ ผมชอบในประเด็นนี้ครับ ให้การศึกษาเป็นตัวผลักดันสร้างโอกาสให้ตัวเอง เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกกำหนดทิศทางชีวิตและอนาคตของเราได้ (ในระดับหนึ่ง).

แบ้งค์ ตัวละครในเรื่องที่ ตั้งใจเรียน แต่ฐานะที่บ้านไม่ได้ดีเท่าไหร่

เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกกำหนดทิศทางชีวิต และอนาคตของเราได้

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนความจริงจากภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ดูคือ เด็กอย่างแบ้งค์ที่ตั้งใจเรียน เรียนเก่งระดับต้นๆของห้อง แต่ทั้งนี้มีภาระมากมายอยู่ที่บ้าน แล้วจะมีโอกาสสอบทุน (และได้ทุนไปเรียนต่างประเทศนั้น) ในความเป็นจริงแล้ว ผมว่าไม่มีอยู่จริง (หรือถ้ามีคงจะมีสัก 1 คนโผล่เป็นช้างเผือก มาให้เห็นในระยะเวลา 10-15 ปี) …หนังภาพยนตร์อาจจะสร้างคนๆนี้ขึ้นจากสิ่งที่สังคมไทยหวังว่าจะมี มวยรอง..the underdog ช่วยเชียร์ให้เขาประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเจออุปสรรคขนาดไหนก็ตาม แต่ในความจริงแล้ว ต้องยอมรับจริงๆว่าเด็กแต่ละคนมีโอกาสไม่เท่ากัน คนที่มีครอบครัวที่มีความพร้อมมากกว่า ย่อมได้เปรียบ ได้เปรียบในทุกๆเรื่องเลย ไม่ว่าจะเป็น ด้านร่างกาย (ทานอาหารดี ร่างกายเติบโต สูง ใหญ่ สง่ามากกว่า) ด้านโอกาส (โอกาสในการหาความรู้ โอกาสในการเดินทางต่างประเทศ เปิดโลกทัศน์ โอกาสในการรับฟังประสบการณ์จากพ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จมากกว่า) หรือในด้านอื่นๆ อย่างเดียวที่เด็กๆมวยรอง underdog อาจจะพอสู้ได้คือความอึด และความใจสู้ ซึ่งสิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งเดียวที่ เด็กๆในบ้านที่ฐานะดีมีความพร้อม อาจจะไม่ได้มีโอกาสฝึกเท่าไหร่ เราคงจะต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำกันต่อไป เพื่อให้เด็กๆมวยรอง ซึ่งเป็นเด็กๆจำนวนมากในประเทศเรา มีโอกาสทัดเทียมกับเด็กๆคนอื่นๆ ไม่ใช่แค่แต่เด็กๆที่มีฐานะดีในประเทศไทยเท่านั้น แต่ต้องหาทางให้เขามีโอกาสสู้ในเวทีโลกให้แข็งแกร่งขึ้นด้วยเช่นกันครับ

ในส่วนสุดท้ายที่อยากจะฝากไว้ จะเป็นส่วนสุดท้ายของหนัง [Spoiler Alert]…ใครยังไม่ได้ดูขอให้หยุดแต่ตอนนี้นะครับ เดี๋ยวจะว่าผมได้ว่าผมมาเขียน spoiler อะไรตรงนี้ (อิอิ เผื่อจะมีใครดูช้ากว่าผม)

ส่วนสุดท้ายตรงที่แบ้งค์อยากจะหาทางโกงให้ได้มากกว่าเดิม ไม่ใช่แค่โกงแล้วได้ 1-2 ล้านบาท แต่ได้ทีเป็นหลัก 10 ล้านบาท และตัวละครในเรื่องก็พอว่า “จะไปเรียนทำไมอีก 4 ปี แล้วก็ออกมาทำงานได้เงินหลักหมื่นบาท…ทั้งๆที่ตอนนี้เราก็หาทางทำเงินได้เป็นหลัก 10 ล้านบาทเลย มาทำตรงนี้ดีกว่า” ผมว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญที่อยากจะบอกให้ใครที่ผ่านมาฉุกคิด ในสมัยก่อนที่ผมเรียนอยู่ที่ Stanford..ถือว่าอยู่ในศูนย์กลางของ Silicon Valley ก็ว่าได้ มุมมองเรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญมาก คนนู้นขายบริษัทได้ มีเงินเป็นหลักพันล้านแล้ว อายุยังน้อยอยู่เลย คนนี้ก็เกษียณอายุได้แล้ว อายุเพิ่งจะ 25 เอง ผมก็หลงอยู่ในความคิดเหล่านี้พอสมควร หาทางวิ่งทำเงินให้ได้เยอะๆ โดยต้องแข่งกับเวลา ยิ่งรวยเร็ว ตอนอายุน้อยๆ ยิ่งถือว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งเรื่องดังกล่าว ยังน่าจะเป็นเรื่องเล่า หรือ mindset ในสังคมไทยระดับหนึ่ง “เรื่องเงินต้องมี ไม่อยากทำงาน งานจะเป็นตัวทำให้เราสูญเสียเวลา เราจะไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว เราจะเสียสุขภาพจากการนั่งทำงานเยอะๆ เวลาผ่านไปแล้วไม่สามารถทวงคืนได้ ….” คุ้นๆไหมครับ ?

สุดท้ายจากการทำงาน อ่านหนังสือ ฟังจากคนที่ประสบความสำเร็จ ผมได้ค้นพบตัวเองว่า จริงๆแล้ว การทำงานเป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่เป็นเรื่องที่แย่ ที่หลายๆคนในสังคมไทย พยายามจะเล่าให้คนรุ่นใหม่ฟัง การทำงานคือการสร้างคุณค่าให้กับตนเอง และสังคมคนรอบข้าง การมีความภูมิใจในผลงานของงานของตัวเอง เป็นอะไรที่มีความสุขครับ ถึงจะมีเงินเยอะเท่าไหร่ก็ไม่สามารถซื้อส่ิงนี้ได้ มันต้องใช้เวลา และความตั้งใจ ตรงนี้เลยอยากจะฝากไว้ถึงน้องๆ หรือเพื่อนๆ ที่ได้แวะมาอ่านตรงนี้ การทำงานเป็นสิ่งที่ดีครับ เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่ามีคุณค่า ถ้าเราจะเกษียณอายุตอน 30 ปี ชีวิตอีก 60-70 ปีข้างหน้า เราจะทำอะไรเคยได้ลองคิดไหม เที่ยวรอบโลกหรือ? (คงยังไปไม่ได้ในตอนนี้เพราะว่า Covid-19 นะครับ ฮา) จะเที่ยวรอบโลก ถ้าเที่ยวสัก 3 รอบมันคงจะเบื่อแล้วหละครับ .ขอฝากไว้นะครับ Working is Good..be curious and strive to be better and provide more values to other people everyday!

Read More