เนื่องด้วยเหตุการณ์แพร่ระบาด Covid-19 ระลอก 3 ที่ดูเหมือนรัฐบาลไทยจะแพ้ บริหารประเทศผิดพลาด ทั้งในด้านการตรวจเชิงรุก การบริหารจัดการซื้อและฉีดวัคซีน มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (รวมถึงช่างสมชาย ช่างที่ผมคุ้นเคยคอยช่วยเหลือปรับปรุงบ้านที่พัฒนาการของผมในหลายๆด้าน :'( ). ทำให้หลายๆกลุ่มเริ่ม “หมดหวัง” กับอนาคตประเทศไทย เกิดกระแส การย้ายประเทศ ขึ้นในกลุ่มสังคมออนไลน์ มีผู้สนใจศึกษา เข้าร่วมพูดคุย ตอนนี้ก็ทะลุกว่า 600,000 คนไปแล้ว
ตัวผมคนหนึ่ง ประมาณปี 2011 หรือสัก 10 ปีที่แล้ว ก็มีความคิดนี้เช่นกัน เนื่องด้วยตัวเองมีโอกาสไปเรียนที่อเมริกา ตั้งแต่ปริญญาตรี จึงมีพื้นฐานในประเทศนี้พอสมควร เพื่อนฝูง ความสามารถด้านภาษา สังคม วัฒนธรรม หรือโอกาสการทำงาน ถ้าว่าไปก็ถือว่าพร้อมพอสมควรเลย ผมวันที่ตัดสินใจได้แม่น วันนั้นผมเดินคุยกับตัวเองที่ถนน Embarcadero ในเเมือง San Francisco ว่าจะเอาอย่างไรดี บนถนนเส้นนี้ Embarcadero ก็ถือว่าเป็นถนนที่สวยมาก คนซานฟราน ชอบมาวิ่งออกกำลังกายที่ถนนเส้นนี้ เพราะอยู่ติดกับมหาสมุทธเลย อากาศดี วิวสวย ถนนเรียบไม่ขรุขระ
ผมมาเดินอยู่ที่นี่ เพราะเป็นช่วงที่ผมขอลาทางจุฬาลงกรณ์ มาเข้าร่วมประชุมวิชาการด้านสตาร์ทอัพ และก็ถือโอกาสนี้เยี่ยมเพื่อนๆ สมัยเรียนที่ Stanford ซึ่งส่วนมากก็ยังทำงานอยู่ในบริเวณ Silicon Valley นี้ และพ่วงพูดคุยเรื่องงานกับหลายๆบริษัทด้วย
ผมเดินอยู่พักใหญ่เลย หยุดหลับตาคิดบ้าง หายใจลึกบ้างๆ ว่าเอาอย่างไรดี มันช่างเป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่พอสมควร การตัดสินใจนี้จะส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆทั้งในปัจจุบัน (พ่อ แม่ พี่ น้อง แฟน ของผม) และคนในอนาคตที่ยังไม่ได้เกิดอีก (ลูกๆ หลานๆ…คิดไกลไปไหม ลูกสักคนตอนนี้ก็ยังไม่มี…ฮา) อารมณ์คิดถึงเหล่ากงของผม คุณลักษณบุล อัศวานันท์ ว่าตอนนั้นเหล่ากงคิดอย่างไร ที่อพยพมาจากซัวเถา Shantou ประเทศจีน เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เหล่ากงคิดมากอย่างผมหรือปล่าว หรือว่ามันไม่มีอะไรจะให้หวังแล้วสำหรับประเทศจีนในตอนนั้น เลยมาประเทศไทยดีกว่า ความรู้สึกของเหล่ากงเป็นอย่างไร เหล่ากงกลัวไหมที่จะต้องเริ่มต้นใหม่ในประเทศที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตัวเอง
ผมเกือบเอาความกล้าหาญของเหล่ากงเป็นตัวอย่าง แล้วก็ตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่อเมริกา เหมือนที่เหล่ากงย้ายตัวเองมาอยู่ที่ไทย เหล่ากงมาเมืองไทย ทำให้ผมมีวันนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีทุกๆวันที่ได้ตื่นเต้นกับการทำงานว่าจะทำอะไรเพิ่มเติมได้ สร้างอะไรขึ้นมาได้บ้าง ผมอยากให้หลานๆผมในอนาคต มีโอกาสเหมือนผมเช่นกัน ดังนั้นผมจะตัดสินใจเหมือนเหล่ากง ผมต้องย้ายมาอเมริกา!
ความคิดนี้อยู่ในหัวผมสัก 5 นาที แล้วผมก็คิด อะไรหลายๆอย่างในหัวผมขึ้นต่อ ผมเคยอ่านหนังสือและบทความหลายๆบทความ ใจความที่ผมพอจำได้คือ The second half of the 20th century is the century of America…ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 (1951-2000) คือศตวรรคของประเทศอเมริกา but the 21th century is the century of Asia…แต่ศตวรรษที่ 21 (2001 – 2100) นั้นจะเป็นศตวรรษของภูมิภาคเอเชีย มุมมองนี้ ทำให้ผมวิเคราะห์สถานการณ์ใหม่ ตัวผมเองอยู่ในเอเชียแล้ว และก็สร้างพื้นฐานของตัวเองไว้พอสมควรแล้ว ทำไมจึงอยากที่ดั้นด้นออกจากประเทศบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอะไรใหม่ๆของเศรษฐกิจโลก มาอยู่อีกประเทศซึ่งกำลังจะกลายเป็นอดีตของความรุ่งเรืองไป ผมชั่งน้ำหนัก 2 ความคิด การย้ายถิ่นฐานของเหล่ากง กับศตวรรษของเอเซีย มันมีอะไรที่ตกหล่นไปหรือปล่าว…แล้วสุดท้ายผมก็เจอ
ผมค้นพบว่า สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงระหว่าง เวลาของเหล่ากง และเวลาของผม ก็คือ เทคโนโลยีด้านการเดินทางและการสื่อสาร ในสมัยเหล่ากง สื่อสารกันโดยจดหมาย เดินทางระหว่างประเทศคือการนั่งเรือสำเภา…โลกในสมัยนั้นเป็นโลกที่ห่างไกลกันมาก ต่างจากโลกสมัยนี้ ข้อมูล การติดต่อสื่อสาร ทำได้ทันทีหลักวินาที การเดินทางไปมาหากันเพียงหลักชั่วโมงหรืออย่างมากก็ 1 วัน โลกในปี 2021 ถูกย่อส่วนลงมากเมื่อเทียบกับปี 1921
ผมดีใจมากที่คิดมาถึงกรอบความคิดนี้ได้ ความลำบากใจที่จะต้องจากครอบครัวและทิ้งสิ่งต่างๆที่ผมได้สร้างไว้ที่เมืองไทย หายไป ประเทศอเมริกา เป็นประเทศที่เจริญ เป็นประเทศที่มีคนเก่งๆเยอะ เป็นประเทศที่มีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยระดับโลกหลายแห่ง ผมอยากจะมีส่วนร่วม เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ให้ครอบครัวผมมีโอกาสเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน และผมก็สามารถพาตัวผมเองและครอบครัวในอนาคตของผมเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ ทั้งๆที่ผมและครอบครัวยังอยู่ที่ประเทศไทย สิ่งที่ผมต้องทำก็คือการขยันเดินทาง ขยันหาความรู้ บอกกับตัวเองว่า เราจะไม่ทิ้งอเมริกา เราจะเดินทางมาเยี่ยมเยียมเพื่อนเก่าๆ หาทางสร้างเพื่อนใหม่ๆ มาดูงาน เข้าสัมนาวิชาการ มาหาความรู้ความคิดใหม่ๆในอเมริกา โดยอย่างน้อยต้องมา 1 ครั้งในทุกๆ 2 ปี ถ้าเพื่อนคนไหนแต่งงาน เราจะต้องไปร่วมงานแต่งงานของเขา ถ้ามีเพื่อนสมัยเรียนคนไหนทักเข้ามาหาว่าจะเดินทางมาเที่ยวไทยหรือครอบครัวเขาจะมาเมืองไทย ไม่ว่าเราจะยุ่งขนาดไหน เราสัญญากับตัวเองว่าเราจะไปต้อนรับเขา พาเขาไปทานข้าวและพาเขาเที่ยวสัก 1 วัน ผมว่าสิ่งเหล่านี้ ทำให้ผมยัง keep in touch มีเส้นบางๆเชื่อมผมอยู่กับประเทศอเมริกา เสมือนว่าผมก็พอจะได้อยู่ที่ประเทศอเมริกาสักเสี้ยวหนึ่ง เหมือนกัน
ที่จริงผมยังมีเรื่องเล่าต่อ ว่าสาเหตุอะไรที่เมืองไทยน่าอยู่ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นประเทศชั้นนำในระดับเวทีโลก แต่เราก็ไม่ได้น่าเกลียดมาก ประเทศไทยยังมีหวัง แต่เราต้องช่วยกันพัฒนา สำหรับสิ่งดีๆที่ผมชอบของประเทศไทย และสิ่งที่ผมอยากจะเสนอว่าเราควรจะช่วยกันปรับปรุงกันอย่างไร ผมขอเก็บไว้เล่าในตอนที่ 2 นะครับ ตอนนี้เขียนมายาวพอสมควรแล้ว เกรงว่าคนอ่านจะเบื่อเสียก่อน สำหรับตอนนี้ขอฝากข้อคิดจากคำพูดของนักปรัชญา นักเขียนท่านนึงชาวสเปน/อเมริกัน ซึ่งกล่าวไว้ว่า
A man’s feet should be plated in his country, but his eyes should survey the world. — George Santayana
การมีประเทศและถิ่นที่อยู่ของตัวเอง เป็นพื้นฐานของความภูมิใจของคนในชาติ หรือแม้แต่เป็นพื้นฐานและเวทีที่เราจะสามารถสร้างความภูมิใจให้แก่เรา แก่ครอบครัว และแก่ชุมชนของเราได้ จะหาทางพัฒนาที่ๆเราอยู่ให้ดีขึ้นได้อย่างไร ในแบบฉบับของเราเอง โดยที่ไม่ต้องร้องขอให้คนอื่นช่วย แต่ละคนมีแรงและกำลังไม่เท่ากัน เราทำที่เราทำได้ แรงของเราก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้เท้าของเราฝังรากลึกลงในแผ่นดินใดๆให้มั่นคง เพราะที่นี่คือที่พักพิงของเรา ฐานมั่นคง แต่สายตาหรือวิสัยทัศน์อย่าหยุดแค่ในประเทศ เรามองและสำรวจได้อย่างไม่จำกัด มองไกลๆว่าโลกใบนี้มีโอกาสหรือสิ่งดีๆอะไรใหม่ๆให้เราสามารถสร้างประโยชน์ขึ้นได้บ้าง
สวัสดีครับ